สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควอนตันและรังสี (QST) ของญี่ปุ่นเปิดตัว JT-60SA ระบบเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชันที่ใหญ่และล้ำหน้าที่สุดในโลกในเมืองนากะ จังหวัดคานางาวะ

JT-60SA ตัวเตาปฏิกรณ์เป็นรูปแบบโทคาแมก (Tokamak) ที่มีรูปทรงเหมือนโดนัท สูงเท่าตึก 6 ชั้น ที่ทำหน้าที่เก็บขดลวดสนามแม่เหล็กที่กักเก็บอนุภาคพลาสมาไว้ เพื่อให้พลาสมาสามารถบรรลุเงื่อนไขการเป็นพลังงานฟิวชัน

เว็บไซต์ TechSpot ชี้ว่านี่คือพัฒนาการสำคัญของวงการวิทยาศาสตร์ฟิวชัน ที่เป็นความหวังของการสร้างแหล่งพลังงานที่ปราศจากก๊าซคาร์บอน

เตาปฏิกรณ์แห่งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น ทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเตาปฏิกรณ์เทอร์โมนิวเคลียร์ขั้นทดลองระหว่างประเทศ (ITER) ที่มีสมาชิก 35 ประเทศร่วมกันสร้างโทคาแมกที่ใหญ่ที่สุดในโลก

JT-60SA จะกลายเป็นแหล่งทดสอบโครงการ ITER ที่จะใช้ไฮโดรเจนและไอโซโทปของไฮโดรเจนที่เรียกว่าดิวเทอเรียมทำการทดลองความเสถียรของพลาสมาและผลกระทบต่อการผลิตพลังงาน

แซม เดวิส (Sam Davis) รองหัวหน้าโครงการนี้ชี้ว่า JT-60SA จะนำ “พวกเรา” เข้าใกล้พลังงานฟิวชัน

แมตเตโอ บาร์บาริโน (Matteo Barbarino) ผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์พลาสมาฟิวชันจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) องค์กรภายใต้สหประชาชาติเคยระบุว่าพลังงานฟิวชันจะสร้างประโยชน์ให้กับทุกประเทศและอยู่เคียงคู่กับพลังงานนิวเคลียร์ หรือพลังงานที่ยั่งยืนประเภทอื่น ๆ ทั้งยังลดผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศโลกด้วย

ตัวเลขของ IAEA เผยว่าปัจจุบันมีเตาปฏิกรณ์แบบโทคาแมกอยู่ราว 50 ตัวทั่วโลก

ที่มา TechSpot

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส