Hyperloop One บริษัทพัฒนาระบบขนส่งความเร็วสูงที่เรียกว่า ไฮเปอร์ลูป (Hyperloop) ซึ่งเป็นการเดินทางรูปแบบใหม่ที่มีความเร็วสูงสุดถึง 700 ไมล์/ชม. (1,125 กม./ชม.) ออกแบบโดยทีมงานของเทสลาและสเปซเอ็กซ์ที่นำโดย อีลอน มัสก์ เมื่อปี 2013 ล่าสุดมีรายงานว่าบริษัทจะเลิกจ้างพนักงานที่เหลือภายในสิ้นปีนี้ หลังจากเดือนพฤศจิกายน 2022 Virgin ได้ขอถอนชื่อออกจากแบรนด์ และการเลิกจ้างพนักงาน 111 คน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ในปีเดียวกัน
Hyperloop ทำงานโดยใช้ตัวยานพาหนะที่เรียกว่า Hyperloop pod เคลื่อนที่ไปตามท่อขนาดใหญ่ที่วางอยู่บนเสาเหมือนรถไฟฟ้า โดยมีเครื่องยนต์เป็นพัดลมไฟฟ้าสร้างลมพลังแรงสูงเพื่อช่วยให้ Pod ถูกยกขึ้นจากพื้นแล้วเคลื่อนที่ไปตามท่อโดยไร้แรงเสียดทาน และสามารถลดเวลาในการเดินทางได้เมื่อเทียบกับรถไฟและเครื่องบินในระยะทาง 1,500 กิโลเมตร เทคโนโลยีนี้เป็นโอเพนซอร์สจึงมีหลายบริษัทนำไปพัฒนาเพื่อปรับใช้จริง
Hyperloop One ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2014 ในการพัฒนาต่อยอดระบบ Hyperloop ซึ่งในปี 2016 ได้ทดสอบระบบการเดินทางกลางแจ้งที่นอร์ทลาสเวกัสได้สำเร็จด้วยความเร็ว 134 ไมล์ต่อชั่วโมง (216 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ในเวลา 2.3 วินาที และปี 2017 ได้ร่วมมือด้านการลงทุนกับ Virgin Group แล้วติดป้ายชื่อแบรนด์ใหม่ว่า Virgin Hyperloop ในปี 2020
เดือนธันวาคม 2017 Hyperloop One ประสบความสำเร็จในการทดสอบห้องโดยสาร XP-1 ด้วยความเร็วสูงสุด 240 ไมล์ต่อชั่วโมง (386 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ในระยะทางเพียง 0.28 ไมล์ (450 เมตร)
ปี 2018 บริษัทได้ทำข้อตกลงกับรัฐบาลอินเดียเพื่อจะสร้างระบบ Hyperloop เชื่อมการเดินทางระหว่าง Mumbai และ Pune ต่อมาปี 2019 รัฐบาลอินเดียได้อนุมัติโครงการ Hyperloop ของ Virgin Hyperloop One ซึ่งถือว่าเป็นเส้นทางแรกของระบบ Hyperloop ที่เป็นไปได้มากที่สุดของโลก
ตุลาคม 2020 Virgin Hyperloop มีแผนจะสร้างศูนย์ติดตามการทดสอบไฮเปอร์ลูปที่ West Virginia ที่แรกของสหรัฐฯ เพื่อใช้สำหรับเป็นสถานที่ในการดำเนินงานให้เป็นไปตามกฎระเบียบและความปลอดภัยที่เข้ามากำกับดูแลโดยรัฐบาลกลาง เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ก่อนที่จะนำไปสร้างระบบใช้งานจริงในวงกว้างต่อไป
เดือนพฤศจิกายน 2020 Virgin Hyperloop ได้ทดสอบกับผู้โดยสารมนุษย์เที่ยวแรกของโลกได้อย่างปลอดภัยด้วยความเร็วสูงสุดของ Pod ที่วิ่งอยู่ในท่อได้ที่ 107 ไมล์ต่อชั่วโมง (172 กม./ชม.) ไปตามท่อยาว 500 เมตรในเวลา 6.25 วินาที ทั้งนี้มีเป้าหมายที่จะได้รับการรับรองด้านความปลอดภัยภายในปี 2025 และเริ่มเปิดให้บริการในปี 2030
เดือนกุมภาพันธ์ 2022 Virgin Hyperloop ได้เลิกจ้างพนักงาน 111 ตำแหน่ง (เกือบครึ่งหนึ่ง) ซึ่งตัวแทนของบริษัทเผยว่าจะช่วยในการลดค่าใช้จ่าย และบริษัทกำลังปรับเปลี่ยนทิศทางมาให้บริการขนส่งสินค้าแทนผู้โดยสาร และต่อมาเดือนพฤศจิกายน 2022 Virgin ได้ขอถอนชื่อออกจากแบรนด์ พร้อมเปลี่ยนจากการสร้างเพื่อขนส่งผู้โดยสารไปเป็นบริการขนส่งสินค้าเพียงอย่างเดียว
ที่มา : bbc.com
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส