วันพฤหัสบดีที่ 29 กุมภาพันธ์ รัฐบาลอินเดียเผยว่าได้อนุมัติการสร้างโรงงานเซมิคอนดัคเตอร์ในประเทศ 3 แห่ง ด้วยการลงทุนมากกว่า 15,000 ล้านเหรียญ (538,050 ล้านบาท) เพื่อมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตชิป โดยจะเป็นสายการผลิตให้กับบริษัทของสหรัฐฯ ไต้หวัน และเกาหลีใต้ รวมทั้งบริษัทชาติอื่น ๆ ที่เข้ามาสร้างโรงงานในอินเดีย ซึ่งอินเดียจะได้รับทักษะความรู้มาพัฒนาขีดความสามารถในการผลิตชิป และเทคโนโลยีการแพ็กเกจชิปขั้นสูงให้แก่บุคลากรในประเทศ ทั้งนี้โรงงานทั้ง 3 แห่งจะเริ่มการก่อสร้างภายใน 100 วันนับจากนี้
โรงงานแห่งแรกเป็นของบริษัท Tata Electronics ร่วมมือกับ PSMC (Powerchip Semiconductor Manufacturing Corp) ของไต้หวัน ในการสร้างโรงงานผลิตชิปในเมืองโดเลรา รัฐคุชราต ด้วยการลงทุน 91,000 ล้านรูปี (39,395 ล้านบาท) ซึ่งจะผลิตชิป 28 นาโนเมตร สำหรับรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และการป้องกันประเทศ
โรงงานแห่งที่ 2 เป็นของ TSAT (Tata Semiconductor Assembly and Test Pvt Ltd) จะสร้างในเมืองมอริกาออน รัฐอัสสัม ด้วยเงินลงทุน 27,000 ล้านรูปี (11,688 ล้านบาท) เพื่อผลิตชิปสำหรับกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค
โรงงานแห่งที่ 3 เป็นของ CG Power ร่วมมือกับ Renesas Electronics Corporation ของญุี่ปุ่นและบริษัท Stars Microelectronics ของไทย จะสร้างโรงงานในเมืองซานันท์ รัฐคุชราต ด้วยเงินลงทุน 7,600 ล้านรูปี (3,290 ล้านบาท) ในการผลิตชิปให้กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค อุตสาหกรรมรถยนต์ และพลังงาน
เดือนมิถุนายน 2023 อินเดียได้อนุมัติให้ Micron สร้างโรงงานประกอบและทดสอบ DRAM และ NAND แห่งใหม่แห่งแรก ในเมืองซานันท์ รัฐคุชราต ซึ่งการสร้างโรงงานผลิตชิปทั้งหมดนี้ จะช่วยในการสร้างงานด้านเทคโนโลยีขั้นสูงโดยตรง 20,000 ตำแหน่ง และยังสร้างงานอื่น ๆ ในทางอ้อมอีกประมาณ 60,000 ตำแหน่ง สรุปง่าย ๆ ว่าอินเดียจะได้ทั้งทักษะความรู้ด้านเทคโนโลยีขั้นสูง และยังได้การจ้างงานอีกด้วย