เป็นความเชื่อส่วนบุคคล โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน
ตั้งแต่เปิดปี 2024 มา เป็นต้นปีที่ Apple โดนมาตรการจากสหภาพยุโรปหรือ DMA บังคับมากมาย และล่าสุดก็โดนกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐอเมริกา (Department of Justice – DOJ) ฟ้องร้องเนื่องจากการผูกขาดอีก ถือว่าค่อนข้างหนักหน่วงเลยทีเดียว แต่สำหรับคนไทยเชื้อสายจีนมีประเด็นที่น่าสนใจคือปีนี้เป็นปีชงของทั้ง iPhone และ Apple เลยครับ
ปีชงคืออะไร?
คนไทยเชื้อสายจีนน่าจะรู้จักปีชงกันทุกคนไม่ว่าจะคนรุ่นเก่าหรือรุ่นใหม่ แต่ก็ถือว่าเป็นความเชื่อส่วนบุคคลนะครับ สำหรับใครที่ไม่คุ้นเคยกับคำว่าปีชง เรามาทำความรู้จักความเชื่อนี้กัน (ปีชงภาษาอังกฤษคือ Cursed Year นะ ไม่ใช่ Brewing Year ตามที่กูเกิลแปล)
คำว่า “ชง” ในภาษาจีนหมายถึง “การปะทะ” หรือปีนั้นอาจมีการปะทะขึ้นตามความเชื่อของโหราศาสตร์จีนที่เชื่อว่าเทพไท้ส่วยเอี้ยมีความใกล้ชิดและมีอิทธิพลกับชะตาของคนเรามากที่สุด สำหรับปี 2567 (2024) มีดังนี้
- ปีชง หรือ ปีที่อยู่ขั้วตรงข้ามกับปีนักษัตรนั้น ๆ จะถือว่าชง 100% สำหรับปี 2567 คือ ปีจอ หรือผู้ที่เกิดในปี พ.ศ. 2465, 2477, 2489, 2501, 2513, 2525, 2537, 2549 และ 2561
- ปีคัก หรือปีชงร่วม หมายถึง ปีนักษัตรของปีนั้น ๆ สำหรับปี 2567 คือ ปีมะโรง หรือผู้ที่เกิดในปี พ.ศ. 2459, 2471, 2483, 2495, 2507, 2519, 2531, 2543, 2555 และ 2567
- ปีเฮ้ง หมายถึง ปีที่ได้รับผลกระทบด้านเคราะห์กรรม สำหรับปี 2567 คือ ปีมะแม หรือผู้ที่เกิดในปี พ.ศ. 2462, 2474, 2486, 2498, 2510, 2522, 2534, 2546 และ 2558
- ปีผั่ว หมายถึง ปีที่ได้รับผลกระทบด้านสุขภาพ สำหรับปี 2567 คือ ปีฉลู หรือผู้ที่เกิดในปี พ.ศ. 2456, 2468, 2480, 2492, 2504, 2516, 2528, 2540, 2552 และ 2564
ตามความเชื่อแล้ว ผู้ที่ตกปีชงจะเผชิญกับอุปสรรคและปัญหาต่าง ๆ เช่นอาการเจ็บป่วย อุบัติเหตุ ปัญหาทางการเงิน หรือปัญหาด้านความสัมพันธ์เป็นต้น
iPhone ชงแบบ 100%
Apple เปิดตัว iPhone รุ่นแรกในวันที่ 9 มกราคม 2007 หรือตรงกับปี พ.ศ. 2550 ปีจอ หรือตรงกับปีชงแบบ 100% เลยนั่นเอง ส่วนวันก่อตั้งบริษัท Apple คือวันที่ 1 เมษายน 1976 หรือปี 2519 ตรงกับปีมะโรง นับเป็นปีชงร่วมด้วยครับ
Apple โดนอะไรบ้างในปีนี้?
สหภาพยุโรป
หากพูดถึงประเด็นที่หนักที่สุดก็คงไม่พ้นสหภาพยุโรปที่โดนเรื่องพอร์ต Lightning ของ iPhone มาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ส่วนปี 2024 นี้ Apple โดนบังคับให้ปฏิบัติตาม DMA หากต้องการขายสินค้าในสหภาพยุโรป แบ่งเป็น 5 ประเด็นหลัก ๆ ดังนี้
- iPhone ต้องเปิดให้ผู้ใช้งาน Sieload หรือติดตั้งแอปโดยไม่ต้องผ่าน App Store บน iPhone ได้
- ชำระเงินแลค่าบริการต่าง ๆ ของแอปโดยไม่ผ่าน App Store
- เปลี่ยนเบราเซอร์หลักของอุปกรณ์ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็น Safari อย่างเดียว
- ต้องเปิดให้นักพัฒนาสามารถเข้าถึงระบบต่าง ๆ มากขึ้นกว่าเดิม เช่น NFC สำหรับใช้จ่าย
- ปรับปรุงความปลอดภัยของผู้ใช้งาน
แม้ว่าจะดูเหมือนไม่เยอะ แต่ก็เป็นการเปลี่ยนระบบปิดเดิม ๆ ของ Apple และเปิดโอกาสให้นักพัฒนาบุคคลที่ 3 สามารถสร้างรายได้จาก iOS ได้หลายช่องทางมากขึ้นกว่าเดิม
สหรัฐอเมริกา
วันนี้กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐอเมริกา (Department of Justice – DOJ) ได้ฟ้องร้อง Apple ในข้อหามีพฤติกรรมผูกขาดตลาดสมาร์ตโฟน เช่น iMessage ที่ใช้งานได้เฉพาะ iPhone, การจำกัดการเข้าถึงซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ซึ่งไม่ทำให้เกิดการแข่งขัน และขัดขวางการสร้าง Super App เป็นต้น
การฟ้องร้องของกระทรวงยุติธรรมนั้นเพิ่มเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น ยังไม่มีบทสรุปว่าจะเป็นอย่างไร แต่หาก Apple แพ้ก็เป็นไปได้ว่าเราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ทำให้ iOS และ iPadOS มีความเป็นระบบปิดที่น้อยลงไปกว่าเดิม ซึ่งความเป็นระบบปิดนี้ถือว่าเป็นจุดขายสำคัญของ iOS เลยทีเดียว
นอกจากข้างต้นแล้วก็มีข่าวมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้วว่าญี่ปุ่นก็มีแนวคิดที่จะเดินตามรอยสหภาพยุโรปเพื่อทำให้นักพัฒนาท้องถิ่นสามารถสร้างรายได้จากการเปลี่ยนแปลงนี้ได้มากขึ้นกว่า ก็ต้องรอดูกันว่าทางการญี่ปุ่นจะเอาด้วยหรือไม่
ย้ำอีกครั้งว่าเป็นความเชื่อส่วนบุคคลเท่านั้น