Google ยอมทำลายข้อมูลหลายพันล้านชุดเพื่อบรรลุข้อตกลงยอมความคดีที่มีผู้ฟ้องว่า Google แอบเก็บข้อมูลการใช้อินเทอร์เน็ตของประชาชนที่เชื่อว่าตัวเองท่องเน็ตด้วยความเป็นส่วนตัว
ข้อตกลงยอมความนี้ได้รับการอนุมัติโดย อีวอนน์ กอนซาเลส โรเจอร์ส (Yvonne Gonzalez Rogers) ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นของสหรัฐอเมริกา ในรัฐแคลิฟอร์เนีย
ทั้งนี้ โจทย์ยื่นฟ้อง Google ในคดีนี้ในแบบกลุ่มตั้งแต่ปี 2020 โดยระบุว่าผู้เสียหายจากการกระทำของ Google ครอบคลุมผู้ใช้งานหลายล้านคนที่ใช้งานโหมด Incognito หรือการท่องเน็ตแบบส่วนตัวมาตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2016
ทีมทนายของผู้ยื่นฟ้องคำนวณมูลค่าการยอมความในฝั่ง Google ระหว่าง 5,000 ล้าน – 7,800 ล้านเหรียญ (ราว 183,097 – 285,632 ล้านบาท) ซึ่ง Google ไม่ได้จ่ายค่าเสียหายให้กับฝั่งผู้ฟ้อง แต่ผู้ใช้งาน Google สามารถฟ้องบริษัทเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายเป็นรายบุคคลได้
ในคำฟ้องกล่าวหาว่าระบบหลังบ้านของ Google เก็บและติดตามข้อมูลของผู้ใช้งานในโหมดดังกล่าวทั้งของ Chrome และเบราว์เซอร์อื่น ๆ อย่างไม่เหมาะสม ทำให้ Google ได้ข้อมูลจำนวนมหาศาล ซึ่งมีทั้งข้อมูลของผู้ใช้ เพื่อนของผู้ใช้ อาหารที่ชอบ งานอดิเรก พฤติกรรมการจับจ่าย หรือแม้แต่สิ่งที่น่าอายที่สุดที่ผู้ใช้ไม่อยากเปิดเผย
ภายใต้ข้อตกลงของการยอมความ Google จะต้องปรับแก้คำอธิบายเกี่ยวกับข้อมูลที่บริษัทเก็บในการท่องเน็ตโหมด Incognito ให้ชัดเจนขึ้น และจะต้องอนุญาตให้ผู้ใช้โหมด Incognito สามารถบล็อกคุกกี้จากเว็บไซต์ภายนอกได้เป็นเวลา 5 ปี
ทนายของผู้ยื่นฟ้องชี้ว่านี่จะทำให้ Google เก็บข้อมูลได้น้อยลง และทำเงินได้น้อยลงจากข้อมูลที่เก็บได้
ด้าน โฮเซ คาสตาเนดา (Jose Castaneda) โฆษกของ Google เผยว่าบริษัทพอใจในการยอมความคดีดังกล่าว
คาสตาเนดายังชี้ด้วยว่าบริษัทไม่เคยเชื่อมโยงข้อมูลที่เก็บได้เข้ากับผู้ที่ใช้โหมด Incognito และบริษัทยินดีที่จะลบข้อมูลเชิงเทคนิคเก่า ๆ ที่ไม่เคยถูกนำไปเชื่อมโยงกับบุคคลต่าง ๆ รวมทั้งยังไม่เคยมีการนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ในการระบุตัวตนอีกด้วย
ขณะที่ เดวิด โบอีส์ (David Boies) หนึ่งในทนายของผู้ยื่นฟ้องระบุในคำแถลงว่าการยอมความในครั้งนี้ถือเป็นก้าวประวัติศาสตร์ในการเรียกร้องความซื่่อสัตย์และความรับผิดชอบจากบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่