สำหรับแฟน ๆ ของไฟล์เพลงคุณภาพสูงอย่าง MQA (Master Quality Authenticated) น่าจะใจหายเมื่อ Tidal บริการสตรีมเพลงคุณภาพสูงที่เป็นพันธมิตรกับ MQA มายาวนาน ประกาศยุติการให้บริการเพลงในรูปแบบ MQA ในวันที่ 24 ก.ค. 2024 นี้ หลังจากเริ่มให้บริการร่วมกันมาตั้งแต่ปี 2017 พร้อม ๆ กับการยุติการให้บริการเสียงรอบทิศทางในรูปแบบ 360RA (Sony 360 Reality Audio) ด้วย
Tidal แจ้งว่า ถ้าคุณเคยบันทึกเพลงเดิมที่เป็น MQA เข้า Collection หรือทำ Playlist ไว้ เพลงนั้นจะยังเล่นได้ต่อไปในรูปแบบไฟล์ FLAC โดยระบบจะเลือกไฟล์คุณภาพสูงสุดเท่าที่มีมาให้บริการ (สูงสุดได้ถึง 24-bit, 192 kHz) โดย FLAC เป็นรูปแบบไฟล์เพลงที่เปิดให้ใช้งานได้ฟรี และสามารถให้บริการในแบบ Hi-Res ได้โดยไม่สูญเสียข้อมูลเสียง (Lossless) โดยผู้ใช้ไม่ต้องจ่ายเพิ่มเติมเพื่อใช้ไฟล์ FLAC
ส่วนเพลงแบบ 360 Reality Audio ที่อยู่ใน Collection หรือ Playlist ของผู้ใช้ จะใช้งานไม่ได้อีกต่อไป เพลงจะขึ้นเป็นสีเทา ทำให้ผู้ใช้ต้องหาเพลงเวอร์ชันอื่นมาใส่แทน (ถ้ามี) ซึ่งใครที่ชอบฟังเพลงแบบเสียงรอบทิศทางก็ต้องไปฟังเป็นเวอร์ชัน Dolby Atmos ใน Tidal แทน
MQA รูปแบบไฟล์เจ้าปัญหา
MQA นั้นเป็นรูปแบบเสียงที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันมาอย่างยาวนานตั้งแต่มันเปิดตัวในปี 2015 ในมุมบวกมันก็เป็นไฟล์เสียงคุณภาพสูงที่มีขนาดเล็ก จนทำให้สามารถสตรีมเสียงระดับ Hi-Res ผ่านอินเทอร์เน็ตได้ในยุคที่เน็ตไม่ได้แรงเท่าปัจจุบัน
แต่ในมุมลบ มันเป็นรูปแบบไฟล์ที่มีการคิดค่าใช้งานตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ต้องจ่ายเงินตั้งแต่การบันทึกเป็นรูปแบบ MQA แล้วการถอดรหัสไฟล์ MQA ให้ได้คุณภาพสูงสุดยังต้องซื้ออุปกรณ์ที่รองรับเฉพาะ ซึ่งมีราคาสูงกว่าปกติด้วย นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องคุณภาพเสียง ที่แม้ว่า MQA จะอ้างว่าให้คุณภาพเสียงระดับ Master จากห้องอัด แต่ความจริงมันเป็นการบีบอัดในรูปแบบ Lossy ที่ตัวอ่าน MQA จะอ่านข้อมูลพิเศษเพื่ออัปเกรดคุณภาพเสียงจากเทียบเท่า CD สู่เสียงระดับ Hi-Res คุณภาพมันจึงไม่ได้เป็นต้นฉบับเท่าไฟล์แบบ Hi-Res FLAC ที่เปิดให้ใช้ฟรี
ซึ่งเมื่อต้นปี 2023 บริษัท MQA Limited เข้าสู่ภาวะล้มละลาย และเมื่อเดือนกันยายน 2023 บริษัท Lenbrook ได้เข้ามาซื้อทรัพย์สินของ MQA ไปเพื่อพัฒนาต่อ และเมื่อวันที่ 13 มิถุนายนที่ผ่านมา Lenbrook ก็ได้ประกาศเป็นพันธมิตรกับ HDTracks ร้านค้าจำหน่ายเพลงคุณภาพสูงชื่อดังในการให้บริการ Music Streaming ที่เลือกรูปแบบการฟังได้ทั้ง MQA และ PCM ก็ดูเหมือนมาเป็นคู่แข่งกับ Tidal ด้วย
Sony 360 Reality Audio ของดีที่แข่งแพ้
ส่วน 360RA นั้นเป็นรูปแบบเสียงรอบทิศทางที่โซนี่พัฒนาขึ้นมา เพื่อให้ผู้ฟังได้รู้สึกว่าเข้าไปฟังเพลงกลางวงดนตรี เสียงดนตรีโอบล้อมตัวเวลาฟัง ซึ่งสามารถให้เสียงเหนือศีรษะหรือใต้พื้นได้ด้วย เพียงแต่ว่า Sony เองก็ไม่มีพลังมากพอที่จะพลักดันให้รูปแบบนี้ประสบความสำเร็จในตลาดได้ เพราะมีเพียงผลิตภัณฑ์ของโซนี่ที่เล่นเสียงประเภทนี้ได้ (เช่น หูฟัง Sony WH-1000XM5 หรือลำโพง Sony RA3000 ที่รองรับโดยเฉพาะ)
ซึ่งเมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่าง Dolby Atmos ที่ได้รับการผลักดันให้รองรับในหลายอุปกรณ์มากกว่า แถมยังเป็นมาตรฐานหลักในวงการภาพยนตร์ปัจจุบันแล้ว ความหลากหลายของอุปกรณ์ที่รองรับจึงเหนือว่าโซนี่มาก แถม Apple Music ก็ยังรองรับ Dolby Atmos ด้วย ทำให้ประสบความสำเร็จมากกว่า
มันจบแล้วครับนาย