หนุ่ม ๆ หลายคนคงรู้จักตุ๊กตายางกันอยู่แล้ว ด้วยความที่เป็นตุ๊กตายางทำให้มีข้อเสียคือไม่สามารถโต้ตอบกับเราได้ แต่นักวิทยาศาสตร์และวิศวกรชาวจีนกำลังใช้เทคโนโลยี AI ที่คล้าย ๆ กับ ChatGPT มาใช้กับตุ๊กตายาง เพื่อให้สามารถโต้ตอบกับผู้ใช้งานได้ด้วย

Starpery Technology บริษัทผู้ผลิตตุ๊กตายางรายใหญ่ในเซินเจิ้นกำลังพัฒนาโมเดลภาษาขนาดใหญ่ เพื่อปรับปรุง AI ให้เหมาะสมกับตุ๊กตายางโดยเฉพาะ โดยมีให้เลือกทั้งแบบชายและหญิง

เรากำลังพัฒนาตุ๊กตายางรุ่นใหม่ที่สามารถโต้ตอบได้ทั้งทางเสียงและท่าทางกับผู้ใช้งาน โดยคาดว่าสามารถทำหุ่นต้นแบบได้ภายในเดือนสิงหาคมปีนี้ ในแง่ของเทคโนโลยีถือว่าค่อนข้างท้าทายพอสมควรที่จะสามารถทำให้มีปฏิสัมพันธ์กับกับมนุษย์ได้อย่างสมจริง

ซีอีโอ อีแวน ลี (Evan Lee)

ตุ๊กตายางที่ขับเคลื่อนด้วย AI จะมีเซนเซอร์ที่สามารถตรวจจับการเคลื่อนไหวและคำพูดของผู้ใช้งานได้ ช่วยเพิ่มประสบการณ์การใช้งานได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยมุ่งเน้นไปที่การใช้งานทางอารมณ์มากกว่าจะเป็นตุ๊กตายางที่ตอบโต้ได้เพียงข้อความพื้นฐานเท่านั้น ซึ่งนอกจากในจีน บริษัทยังวางแผนที่จะจำหน่ายในประเทศอื่น ๆ ด้วย

คนในอุตสาหกรรมนี้ทราบกันดีว่าจีนมีตลาดที่ใหญ่ ในแง่ของกำลังซื้อถือว่ามากกว่าหลาย ๆ ประเทศในยุโรป ในแง่ของยอดขายนั้นก็แซงยอดขายรวมของสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และเยอรมนีแล้วด้วย

นอกจากตุ๊กตายางแล้ว Starpery Technology ยังมีแผนที่จะพัฒนาหุ่นยนต์ที่สามารถทำงานบ้าน ช่วยเหลือผู้พิการ และดูแลผู้สูงอายุได้ โดยบริษัทตั้งเป้าที่จะเปิดตัวหุ่นยนต์ที่ช่วยเหลือผู้พิการได้ภายในปี 2025 และในปี 2030 จะมีหุ่นยนต์ที่สามารถปกป้องผู้คนจากอันตรายได้ด้วย