วันอังคารที่ 30 กรกฎาคม ศาลรัฐบาลกลางในออสติน รัฐเท็กซัส ได้รับคำร้องจากกลุ่มผู้ถือหุ้นของ CrowdStrike ที่รวมตัวกันยื่นฟ้องบริษัทดังกล่าวว่าหลอกลวงโดยปกปิดข้อเท็จจริงว่า การอัปเดตซอฟต์แวร์ที่บกพร่องอาจทำให้เกิดเหตุคอมพิวเตอร์ขัดข้องทั่วโลกมากกว่า 8,000,000 เครื่องเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ซึ่งส่งผลให้สายการบิน ธนาคาร โรงพยาบาล และบริการฉุกเฉินต้องหยุดชะงัก ที่สำคัญผ่านมา 12 วัน ราคาหุ้นของบริษัทได้ร่วงลงมา 32% และมูลค่าตลาดลดลงมาถึง 25,000 ล้านเหรียญ (887,662 ล้านบาท)
คำร้องได้กล่าวอ้างถึงคำแถลงของบริษัทจากการประชุมทางโทรศัพท์เมื่อวันที่ 5 มีนาคม โดย จอร์จ เคิร์ตซ์ (George Kurtz) ซีอีโอของ CrowdStrike ได้กล่าวถึงซอฟต์แวร์ของ CrowdStrike ว่าได้ผ่านการตรวจสอบ การทดสอบ และการรับรองแล้ว ซึ่งแกนนำในการฟ้องร้องคดีนี้ก็คือ สมาคมระบบเกษียณอายุของเขตพลีมัธ รัฐแมสซาชูเซตส์ โดยได้ออกมาเรียกร้องค่าเสียหายที่ไม่ได้ระบุจำนวนให้กับผู้ถือหุ้น CrowdStrike Class A ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน 2023 ถึง 29 กรกฎาคม 2024
ล่าสุดเมื่อวันพุธ CrowdStrike เผยเชื่อว่าคดีนี้ไม่มีมูลความจริง และจะปกป้องบริษัทอย่างเต็มที่ สรุปง่าย ๆ ว่า จนถึงตอนนี้ CrowdStrike ได้มีคดีเพิ่มเติม ซึ่งคดีความแบบนี้ผู้ถือหุ้นมักจะออกมาฟ้องบริษัท หลังจากมีข่าวลบแล้วทำให้ราคาหุ้นตก
สัปดาห์ที่แล้ว ซีอีโอของ CrowdStrike ได้ถูกสภาผู้แทนสหรัฐฯ เรียกให้ชี้แจงเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และต่อมา รัฐบาลมาเลเซียได้พบกับตัวแทนของบริษัทไมโครซอฟท์และคราวด์สไตรก์ เพื่อขอให้พิจารณาเกี่ยวกับการชดเชยความเสียหายให้แก่บริษัทในมาเลเซีย
ล่าสุด เดลต้าแอร์ไลน์ได้ว่าจ้างทนายความคนดังเรียกร้องค่าชดเชยจากบริษัท Microsoft และ CrowdStrike เนื่องจากเหตุขัดข้องดังกล่าวได้ทำให้สายการบินสูญเสียรายได้และต้องจ่ายเงินชดเชย อีกทั้งค่าโรงแรมให้กับลูกค้าที่ตกเครื่องรวม 500 ล้านเหรียญ (17,775 ล้านบาท)