เมื่อมีม (meme) แรกบนโลกอินเทอร์เน็ตเกิดขึ้นมาก็คงไม่มีใครคิดหรอกว่า สิ่งสิ่งนี้จะใช้พลังงานในโลกไปมากเท่าใด
ล่าสุดนักวิจัยค้นพบว่า ข้อมูลส่วนใหญ่ที่เก็บในคลาวด์นั้นเป็น ‘ข้อมูลดำมืด (dark data)’ ซึ่งหมายถึงข้อมูลที่ใช้เพียงครั้งเดียวแล้วไม่เคยมีการใช้งานอีกเลย นั่นหมายความว่า มีมและมุกตลกทั้งหลายที่เราสร้างมาจนมากเกินไปและใช้กันภายในกลุ่มเพื่อนหรือครอบครัวเพียงไม่กี่ครั้งกำลังถูกเก็บอยู่ในศูนย์ข้อมูลและทำให้เกิดการใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลืองจนเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลเสียต่อสภาพอากาศโลก
เอียน ฮอดจ์คินสัน (Ian Hodgkinson) ศาสตราจารย์ด้านกลยุทธ์ที่มหาวิทยาลัยลัฟบะระ (Loughborough University) ได้ทำการศึกษาผลกระทบต่อสภาพอากาศจากข้อมูลดำมืดและวิธีการแก้ไขปัญหา โดยเขาระบุว่า “ข้อมูลมีผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแน่นอน”
ฮอดจ์คินสันค้นพบว่า 68% ของข้อมูลที่ใช้ในบริษัทต่าง ๆ ไม่เคยถูกนำมาใช้ซ้ำ และเขาก็คาดการณ์ว่า ข้อมูลส่วนตัวของคนทั่วไปก็เป็นเช่นเดียวกัน
เขาระบุว่า คนทั่วไปมักคิดว่าข้อมูลมีความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutral) แต่ที่จริงข้อมูลทุกชิ้นไม่ว่าจะเป็นรูปภาพ โพสต์อินสตาแกรม หรืออะไรก็ตามล้วนมี carbon footprint ทั้งนั้น ข้อมูลที่ถูกจัดเก็บในคลาวด์จะไม่ได้ลอยอยู่บนก้อนเมฆนุ่มฟู แต่ถูกเก็บอยู่ที่ศูนย์ข้อมูล และที่นั่นก็เสียงดังมาก ซ้ำยังมีความร้อนมหาศาล มันต้องใช้พลังงานอย่างมาก และแม้ว่ามีมขำขัน 1 ชิ้นจะไม่ทำให้โลกพังทลาย แต่หากเป็นหลายล้านชิ้นที่เก็บไว้เฉย ๆ ไม่ถูกนำมาใช้จะทำให้เกิดการใช้พลังงานอย่างไม่เกิดประโยชน์
อีกหนึ่งสิ่งที่ทุกคนจะช่วยกันปฏิบัติเพื่อลดการสิ้นเปลืองพลังงานก็คือ การส่งอีเมลที่ไม่มีประโยชน์ให้น้อยลง โดยฮอดจ์คินสันชี้ว่า อีเมลทั่วไป 1 ฉบับ เทียบได้กับการสร้างคาร์บอน 4 กรัม ดังนั้นการไม่ส่งอีเมลพร่ำเพรื่อ และไม่กดปุ่ม reply all ในอีเมลทุกฉบับก็เป็นวิธีการง่าย ๆ ที่จะช่วยลดการสิ้นเปลืองพลังงานได้