วันที่ 22 สิงหาคม หนังสือพิมพ์ ETNews ของเกาหลีใต้รายงานว่า LG Display ผู้ผลิตแผงหน้าจอ Pure White OLED (WOLED) สำหรับทีวี จอแสดงผล และอุปกรณ์อื่น ๆ รายใหญ่ของโลก ได้พัฒนาแผงหน้าจอ OLED แบบใหม่ ด้วยการทำให้พิกเซลสีน้ำเงินใช้วัสดุ PHOLED สำเร็จเป็นครั้งแรก ถือเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายที่ทำให้ได้แผง OLED ในฝันสักที
โดยทั่วไป การเปล่งแสงของหน้าจอแสดงผล OLED เกิดจากวัสดุ 2 ประเภทด้วยกัน คือ ฟลูออเรสเซนต์ และฟอสฟอเรสเซนต์ (PHOLED) ซึ่งปัจจุบันในพิกเซล RGB ของ OLED จะใช้วัสดุที่ทำให้เกิดการเปล่งแสงแตกต่างกัน คือ พิกเซลสีแดง (R) และพิกเซลสีเขียว (B) จะใช้ฟอสฟอเรสเซนต์ (PHOLED) อยู่แล้ว ส่วนพิกเซลสีน้ำเงิน (B) ยังใช้ฟลูออเรสเซนต์อยู่
โดยการใช้ PHOLED กับแม่สีทั้ง 3 ได้สำเร็จถือเป็นความก้าวหน้าสำหรับเทคโนโลยี OLED ต่อจาก QD-OLED และไมโครเลนส์อาร์เรย์ (MLA) เพราะเปลี่ยนจากฟลูออเรสเซนต์ไปเป็นฟอสฟอเรสเซนต์ (PHOLED) ในพิกเซลสีน้ำเงิน ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการส่องสว่างให้กับสีน้ำเงินจาก 25% เป็น 100% จึงมีผลทำให้จอแสดงผล OLED รวมทั้ง 3 สี RGB ลดการใช้พลังงานได้ถึง 25% หรือสรุปง่าย ๆ ว่าช่วยทำให้หน้าจอสว่างขึ้น และกินไฟน้อยลง
ซึ่ง LG Display เผยเทคนิคการผลิตที่ทำให้ประสบความสำเร็จคือการใช้โครงสร้างแบบไฮบริด โดยเรียงอุปกรณ์เปล่งแสง OLED ซ้อนกันสองชั้น ด้วยการรวม OLED ฟลูออเรสเซนต์และฟอสฟอเรสเซนต์ (PHOLED) สีน้ำเงิน เพื่อให้ได้อายุการใช้งานที่เทียบเท่ากับ OLED ที่มีอยู่ (เพราะปกติ PHOLED สีน้ำเงินจะมีอายุการใช้งานแค่ 55% ของฟลูออเรสเซนต์สีน้ำเงินในปัจจุบัน) ซึ่งหลังจากที่บริษัทสามารถพัฒนาแผง OLED ที่ใช้ PHOLED สีน้ำเงินได้สำเร็จ และจะมีการประเมินประสิทธิภาพสำหรับการผลิตจำนวนมากภายในปีนี้
ซึ่งก็ถือเป็นข่าวดี หลังจากเมื่อต้นเดือนนี้มีรายงานว่า Universal Display (UDC) ผู้พัฒนา PHOLED สีน้ำเงินได้เลื่อนการเปิดตัววัสดุ PHOLED สีน้ำเงินจากปี 2024 ไปเป็นปี 2025 ดังนั้นการผลิต OLED ที่ใช้ PHOLED สีน้ำเงินจำนวนมากจำเป็นต้องผ่านความร่วมมือกับ UDC ด้วย ซึ่งทำให้ซัมซุงต้องเลื่อนแผนการออกจอ OLED ที่ใช้ PHOLED สีน้ำเงินออกไป