ลิปบู ตัน (Lip-Bu Tan) ผู้คร่ำหวอดวงการชิปตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งในบอร์ดบริหารของ Intel อย่างกะทันหันหลังจากที่ แพต เกลซิงเจอร์ (Pat Gelsinger) ซีอีโอ และสมาชิกบอร์ดคนอื่น ๆ ไม่ยอมฟังคำแนะนำของตนในเรื่องทิศทางการบริหารคน วัฒนธรรมองค์กร และการขาดกลยุทธ์เกี่ยวกับ AI ของบริษัท
แหล่งข่าวเผยว่า คำแนะนำที่ว่านี้เน้นไปในเรื่องการที่ปรับปรุงให้ธุรกิจการผลิตชิปเน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลางและตัดวิธีการทำงานที่เป็นระบบราชการมากเกินไป
ตันชี้ว่าแม้จะลาออกไปแล้วเพื่อไปจัดความสำคัญในเรื่องที่ตั้งใจจะทำใหม่แต่ยังคงสนับสนุนบริษัทต่อไป แหล่งข่าวเผยว่าที่ผ่านมาตันรู้สึกอึดอัดกับขนาดแรงงานที่มีมากเกินไป ไม่พอใจแนวทางทำสัญญาผลิต และวัฒนธรรมองค์กรที่มีความเสี่ยงสูงและมีลำดับชั้นแบบระบบราชการ
หนึ่งในความขัดแย้งหลักระหว่างตันและบอร์ดบริหารคือแผนการปลดพนักงาน ซึ่งตันอยากให้การลดอัตรามีความเฉพาะเจาะจง โดยเฉพาะการปรับลดตำแหน่งผู้บริหารระดับกลางที่ไม่ได้ทำงานส่งเสริมพลังในทางวิศวกรรม ประเด็นกำลังแรงงานนี้เป็นสิ่งที่หลายคน แม้แต่ในบอร์ดเองก็มองว่ามีจำนวนมากเกินไป
หากจะให้เห็นภาพที่ชัดเจนนั้น แหล่งข่าว 2 แหล่งเผยว่าเมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่าง AMD ก็จะพบว่า ทีมงานในบางโครงการของ Intel มีมากกว่าถึง 5 เท่า ขณะที่กำลังคนทั้งหมดของ Intel มีมากกว่า NVIDIA และ TSMC รวมกันเสียอีก
สำหรับโครงสร้างบริหาร ตันเชื่อว่า Intel มีการทำงานแบบระบบราชการที่เป็นลำดับชั้นที่คั่นด้วยผู้บริหารระดับกลางมากเกินไป ซึ่งขวางความก้าวหน้าของงานในแผนกชิปเซิร์ฟเวอร์และเดสก์ท็อป จึงควรปลดผู้บริหารระดับกลางเหล่านี้ออกเป็นหลัก
ในประเด็นวัฒนธรรมการทำงาน ตันเชื่อว่ากำลังคนที่มากเกินความจำเป็น ทำให้พนักงานมีความพึงพอใจกับงานของตัวเองมากไปและไม่เกิดการแข่งขัน ต่างจากปรัชญาการทำงานของผู้ร่วมก่อตั้งอย่าง แอนดี โกรฟ (Andy Grove) ที่ว่า “คนที่ขี้ระแวงเท่านั้นจึงรอด”
สำนักข่าว Reuters เผยว่าตันเป็นคนที่ได้รับการยอมรับจากนักลงทุนอย่างมาก และชี้ว่าการลาออกครั้งนี้ชี้ให้เห็นถึงความไม่แน่นอนในการฟื้นฟู Intel ที่กำลังประสบปัญหาอย่างหนัก จากผลประกอบการที่ลดลง ปัญหาที่เกิดขึ้นกับชิปประมวลผลอย่างไม่มีทางแก้ และการที่ตามการพัฒนาของ AI ไม่ทัน