มหาวิทยาลัยลีดส์ในอังกฤษได้นำเอไอที่เรียกว่า Optimise มาฝึกเรียนรู้ประวัติสุขภาพของคนมากกว่า 2,000,000 คน ซึ่งพบว่ามีความสามารถช่วยให้แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป (แพทย์ที่รักษาอาการเจ็บป่วยเฉียบพลันและเรื้อรังทั่วไป) สามารถวินิจฉัยผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงในระดับที่จะพัฒนาสู่ภาวะหัวใจวายเฉียบพลันได้ ซึ่งโดยทั่วไปถ้ามีอาการแล้วส่งโรงพยาบาลไม่ทันก็อาจมีผลร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต
นักวิจัยพบว่าในผู้ป่วยหลายรายมีภาวะที่ไม่ได้รับการวินิจฉัย (ตรวจไม่พบ) หรือไม่ได้รับยาที่ช่วยลดความเสี่ยง นอกจากนี้ ดร. ราเมช นาดาราจาห์ (Dr. Ramesh Nadarajah) จากมหาวิทยาลัยลีดส์เผยว่าการป้องกันไม่ให้อาการแย่ลงมักจะมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าการรักษาตอนที่อาการรุนแรงแล้ว
การตรวจข้อมูลของคน 2,000,000 คน พบว่ามากกว่า 400,000 คน ได้รับการวินิจฉัยว่ามีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคหัวใจล้มเหลว โรคหลอดเลือดสมอง และโรคเบาหวาน โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้คิดเป็น 74% ของผู้ป่วยที่เสียชีวิตด้วยภาวะที่เกี่ยวกับหัวใจ
ในโครงการนี้ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง 82 ราย พบว่า 20% ไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคไตเรื้อรังระดับปานกลางหรือความเสี่ยงสูง และผู้ป่วยความดันโลหิตสูงมากกว่าครึ่งหนึ่งได้รับการจ่ายยาที่แตกต่างกัน ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจได้ดีขึ้น และพบว่าวิธีนี้อาจช่วยให้แพทย์รักษาผู้ป่วยได้เร็วขึ้น
นักวิจัยเผยว่าการเสียชีวิตที่เกี่ยวกับหัวใจเกิดได้จากหลายปัจจัย ซึ่งการรวบรวมข้อมูลเชิงลึกโดยเอไอ อาจช่วยให้แพทย์มีความมั่นใจที่จะให้การดูแลผู้ป่วยอย่างทันท่วงที และลดแรงกดดันให้กับระบบบริการสุขภาพแห่งชาติของอังกฤษ เนื่องจาก 25% ของการเสียชีวิตทั้งหมดในอังกฤษมาจากโรคหัวใจและระบบไหลเวียนโลหิต ดังนั้นการวินัจฉัยด้วยเอไอจึงสามารถป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยเข้าสู่อาการที่รุนแรงและเสียชีวิตได้