วิกฤตโลกเดือดกำลังทวีความรุนแรงมากขึ้นและส่งผลกระทบต่อทุกชีวิตทั้งทางตรงและทางอ้อม แม้ว่าทุกฝ่ายจะตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ หรือทำให้เป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 แต่ดูเหมือนจะไม่ทันการณ์เสียแล้ว เครื่องมือสำคัญที่จะทำให้เราเร่งเปลี่ยนเพื่อกู้วิกฤตได้ทันเวลาคือ การพัฒนาเทคโนโลยีที่อาจช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ในอนาคต และหนึ่งในแรงผลักดันเล็ก ๆ เกิดขึ้นในงาน ESG Symposium 2024 ที่ได้รวบรวมสปีกเกอร์หลายคนมาช่วยออกไอเดียและหาแนวทางเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนพลังงานโลกไปสู่ Net Zero ภายในปี 2050 ให้เป็นจริง

พลังงานต้องเปลี่ยนแปลง

Niamh Collier-Smith สปีกเกอร์ท่านแรกเน้นย้ำถึงประเด็นการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่อง Paris Agreement หรือความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ที่ทุกฝ่ายพยายามร่วมกันรักษาอุณหภูมิโลกให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศา ที่กำลังจะครบรอบ 10 ปีในปี 2025 เพราะอย่างที่ทุกคนเห็นแล้วว่า สิ่งที่ทำอยู่ในทุกวันนี้ไม่เพียงพอ

Roberto Bocca สปีกเกอร์อีกคนพูดถึงการเปลี่ยนแปลงของพลังงานที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนแปลงโลก เขาพูดถึงปัจจัย 3 แกน ได้แก่ความยั่งยืน ความปลอดภัยและคุณภาพของพลังงาน เป็นประเด็นสำคัญที่ช่วยให้มีความสามารถในการแข่งขันเรื่องการเปลี่ยนผ่านพลังงานในอนาคตได้ ซึ่งพื้นที่ ASEAN มีความสามารถมากพอที่จะแข่งขันในระดับโลก ทั้งเรื่องแหล่งพลังงานสะอาด เทคโนโลยีและโซลูชันต่าง ๆ รวมถึงความร่วมมือระหว่างประเทศ ที่จะช่วยให้เรื่องนี้เกิดขึ้นได้จริง

Dr.Cai Guan สปีกเกอร์อีกคนพูดถึงตัวอย่างเมืองสีเขียวที่เมืองอู่ฮั่น (Wuhan) มณฑลหูเป่ย ที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับตลาดคาร์บอนฯ (Carbon Market) โดยมีศูนย์รวมกลางในการแลกเปลี่ยนคาร์บอนฯ ผ่าน China Carbon Emission Trading Market (CRC) รวมถึงแพลตฟอร์มสำหรับแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตด้วยแอปพลิเคชันของจีน ส่งผลให้มูลค่าของคาร์บอนเครดิตสูงขึ้นกว่า 87% (40-45 RBM per Ton) นับตั้งแต่เริ่มใช้งานในปี 2021 นอกจากนี้ยังมีแพลตฟอร์ม Wuhan Climate Financing Comprehensive Service ที่ช่วยหาโปรเจกต์และเชื่อมนักลงทุน เข้ามาช่วยจัดการเรื่องคาร์บอนเครดิตภายใต้แพลตฟอร์มนี้อีกด้วย

ส่วนประเทศไทยเองถือว่ามีศักยภาพในการพัฒนาไปสู่ความยั่งยืนได้ในอนาคต สิ่งสำคัญที่หลายฝ่ายให้ความสนใจคือเรื่องการเกษตร ที่ถือเป็นจุดแข็งของไทยและมีส่วนในการลดการผลิตคาร์บอนฯ ของประเทศลงได้ (ไทยผลิตคาร์บอนฯ 56,766.32 GgCO2eq จากการเกษตรในปี 2019) รวมถึงการจัดการขยะก็ยังมีพื้นที่ให้เทคโนโลยีและโซลูชันเข้ามาช่วยจัดการ ตัวอย่างเคสในประเทศสหราชอาณาจักรเรื่องการจัดการขยะที่ยังทำได้ประมาณ 45% พร้อมตั้งเป้าระบบการจัดการพลังงานจากขยะภายในปี 2028 รวมถึงการใช้จ่ายด้วยคาร์บอนฯ ที่จะเกิดขึ้นตามมาด้วย นอกจากนี้ยังรวมถึงการเปลี่ยนแปลงพลังงาน ที่เริ่มพัฒนาให้เห็นแล้วหลายแห่งในประเทศไทย

กุญแจสำคัญสู่การเปลี่ยนแปลงพลังงาน

บทเวทีเสวนาหลายคนเห็นตรงกันว่า ทุกภาคส่วนมีความพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงพลังงาน เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศ ทั้งเรื่องพลังงานสะอาด การคมนาคมสีเขียว รวมถึงเคมีชีวภาพ ที่สามารถสนับสนุนความยั่งยืนของประเทศได้ในอนาคต การเสวนาครั้งนี้ยังเป็นการช่วยระบุชี้ว่ามีชิ้นส่วนไหนที่กำลังขาดอยู่ในระหว่างการพัฒนานี้ ในเรื่องความพร้อมของคน ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน การเงิน ไปจนถีงจะต้องปรับตัวและยกระดับสเกลให้ใหญ่ขึ้นอย่างไร เพื่อให้สำเร็จได้ในความเป็นจริง

การเสวนาวันนี้ได้รับเกียรติจากฝั่งรัฐบาล โดยประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า รัฐบาลได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องของการแจ้งเตือนภัย เพื่อให้ประชาชนสามารถรับมือได้ล่วงหน้า 2-3 วัน ส่วนการจัดการเรื่อง Green Economy และการทำให้ SME ปรับเปลี่ยนให้เป็นธุรกิจเกี่ยวข้องกับเรื่องกรีน ไปจนถึงการสร้างสังคมที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมภายใต้นโยบายของรัฐบาล โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

ตัวแทนจาก SCG ในฐานะผู้จัดงานเองก็มีผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมมาแล้วมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ ลดปล่อยคาร์บอน 1.17 ล้านตันคาร์บอน ลดคาร์บอนได้กว่า 80% หรือเครื่องใช้ไฟฟ้ารีไซเคิล ซึ่ง SCG เน้นย้ำเรื่องการต้องเร่งปลดล็อกกฎหมายและข้อกำหนด เพื่อให้ทุกภาคส่วนเข้าถึงพลังงานสะอาดได้ง่าย รวมถึงผลักดันการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสีเขียว ตลอดจนการพัฒนาเทคโนโลยี โครงสร้างสีเขียวตามไปด้วย

สุดท้ายทุกคนร่วมกันสรุปทิศทางของการเปลี่ยนพลังงานไปสู่ความยั่งยืนว่า ประเทศไทยต้องรู้จักปรับตัวและยืดหยุ่น เพื่อไปสู่การเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Green Transition) ได้ โดยที่ภาครัฐต้องเชื่อมโยงข้อมูลความรู้ ยกระดับภาคประกอบการและผลักดันกฎหมายที่สอดคล้องกับพฤติกรรมของคนไทยด้วย โดยเฉพาะกฎหมายเศรษฐกิจหมุนเวียนต้องเกิด 

ในงานนี้มีตัวอย่างของสระบุรี Sandbox ต้นแบบเมืองคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทย ที่จะเป็นหมุดหมายให้กับเมืองอื่น ๆ ต่อไป แต่ Sandbox จะเกิดขึ้นจริงได้ต้องมีความกล้า ทุกคนต้องเข้าถึงได้ ประชาชนต้องมีเงินใช้ และข้อจำกัดต้องไม่มี เมื่อตั้งต้นด้วยสิ่งเหล่านี้ได้แล้ว การเปลี่ยนผ่านพลังงานจึงจะเกิดได้จริง

นอกจากการเสวนาในงาน ESG Symposium 2024 แล้ว หากใครสนใจเกี่ยวกับเรื่อง Low Carbon City เมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำ ยังสามารถรับชมได้ที่โซนนิทรรศการ ชั้น G ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในงาน Sustainability Expo 2024 (SX2024) ระหว่างวันที่ 27 กันยายน – 6 ตุลาคม 2024 เวลา 10.00 – 20.00 น.