นักวิจัยสร้างบอต AI ที่สามารถเอาชนะแบบทดสอบ CAPTCHA (ย่อมาจาก Completely Automated Public Turing test to tell Computers and Humans Apart) หรือแบบทดสอบพิสูจน์ความเป็นมนุษย์ ได้ถึง 100%

โดยทั่วไปแล้ว CAPTCHA จะมีลักษณะเป็นภาพที่เป็นช่อง ๆ ให้ผู้ใช้เลือกช่องที่มีวัตถุในช่องที่สอดคล้องกับโจทย์ อย่างเช่น มอเตอร์ไซค์ หรือไฟจราจร ทั้งนี้ ก็เพื่อยืนยันตัวตนความเป็นมนุษย์ และป้องกันสแปมหรือการโจมตีด้วยบอตที่จะเล็งเป้าหมายไปที่เว็บไซต์ต่าง ๆ

แต่ในงานวิจัยล่าสุด แอนเดรียส เพลสเนอร์ (Andreas Plesner) นักศึกษาปริญญาเอก และทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยอีทีเอชซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประสบความสำเร็จในการสร้างโมเดล AI ที่เอาชนะ reCAPTCHA v2 ของ Google ได้ทุกครั้งที่ทำการทดสอบ

เว็บไซต์ Ars Technica รายงานว่าทีมวิจัยใช้โมเดลจดจำวัตถุแบบโอเพนซอร์สที่ชื่อว่า YOLO (ย่อมาจาก You Only Look Once) ซึ่งได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นไปฝึกกับภาพกว่า 14,000 ภาพ ทั้งหมดเป็นภาพที่นักวิจัยประเมินว่าน่าจะปรากฏใน CAPTCHA ก่อนหน้านี้ YOLO เคยถูกแบรนด์เสื้อผ้านำไปใช้ในการหลอกกล้อง AI

ผลการทดสอบพบว่า YOLO สามารถระบุภาพมอเตอร์ไซค์ได้ถึง 69% จากการทดสอบทั้งหมด ส่วนภาพหัวดับเพลิง สามารถระบุได้ถึง 100% โดยทั้งหมดทั้งมวลก็คือ YOLO เอาชนะ CAPTCHA ได้ทุกครั้ง แม้ว่าจะทดสอบแบบหลายขั้นตอนก็ตาม

อนาคตของ CAPTCHA

จริง ๆ แล้ว Google กำลังทยอยปลดระวาง reCAPTCHA v2 มาเป็นเวลาหลายปีแล้ว เพื่อนำ reCAPTCHA v3 มาใช้แทน โดย reCAPTCHA v3 เป็นระบบมาตรการรักษาความปลอดภัยแบบที่คอยวิเคราะห์การปฏิสัมพันธ์ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตว่าเป็นมนุษย์หรือไม่ ในแบบที่ผู้ใช้ไม่รู้ตัว แทนการมีบททดสอบแบบเดิม ๆ

อย่างไรก็ดี Ars Technica ให้ข้อสังเกตว่า reCAPTCHA v2 ยังมีใช้อยู่อย่างแพร่หลายในหลายล้านเว็บไซต์ อีกทั้ง reCAPTCHA v3 ยังใช้ reCAPTCHA v2 เป็นตัวเลือกสำรองเมื่อเกิดสงสัยว่าผู้ใช้เป็นบอตด้วย

ก้าวพ้นยุค CAPTCHA

เพลสเมอร์และทีมวิจัยชี้ว่าการที่โมเดลแบบใหม่สามารถเอาชนะ CAPTCHA ได้ 100% เท่ากับเป็นการบอกว่าเราอยู่ในยุคที่ก้าวข้าม CAPTCHA ได้อย่างสมบูรณ์แล้ว

ในขณะเดียวกัน ทีมวิจัยก็ให้ความเห็นว่า CAPTCHA ที่ดีก็เป็นตัวขีดเส้นแบ่งระหว่างเครื่องจักรที่ฉลาดที่สุดกับมนุษย์ที่ฉลาดน้อยที่สุด และเมื่อโมเดล Machine Learning มีความใกล้เคียงกับมนุษย์มากเท่าไหร่ การหา CAPTCHA ที่ดีก็ยากขึ้นเท่านั้น