สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ออกรายงานที่ระบุว่าเครือข่ายอาชญากรรมที่ทรงอำนาจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มักใช้ Telegram ในการปฏิบัติการขนาดใหญ่ ซึ่งเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินอาชญากรรมไปอย่างสิ้นเชิง

UNODC ชี้ว่าบน Telegram มีการซื้อขายข้อมูลที่ขโมยมาอย่างข้อมูลบัตรเครดิต พาสเวิร์ด และประวัติการเข้าชมเว็บไซต์บนเบราว์เซอร์กันอย่างโจ่งแจ้ง นอกจากนี้ ยังมีการขายเครื่องมือที่ใช้ก่ออาชญากรรมไซเบอร์ อย่างซอฟต์แวร์ Deepfake สำหรับการหลอกลวง หรือมัลแวร์ขโมยข้อมูลกันอย่างกว้างขวาง บริการแลกเปลี่ยนคริปโทฯ แบบไม่มีใบรับรองสำหรับการฟอกเงินก็มีอยู่บน Telegram

รายงานยังชี้ด้วยว่ามีหลักฐานชัดเจนว่าตลาดข้อมูลใต้ดินกำลังเคลื่อนตัวสู่ Telegram และผู้ขายสินค้าดิจิทัลผิดกฎหมายเหล่านี้ยังมีกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มองค์กรอาชญกรรมข้ามชาติที่มีฐานที่มั่นอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้กลายเป็นแหล่งอุตสาหกรรมผิดกฎหมายขนาดยักษ์ใหญ่ที่มีมูลค่าตั้งแต่ 27,400 – 36,500 ล้านเหรียญ (ราว 916,000 ล้าน – 1.2 ล้านล้านบาท) ที่มีเป้าหมายเป็นเหยื่อทั่วโลกโดยใช้วิธีการฉ้อฉลต่าง ๆ ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มอาชญากรชาวจีนที่ปฏิบัติการจากฐานที่มั่นที่มีการป้องกันแน่นหนา ใช้แรงงานที่ลักลอบมาเป็นเครื่องมือ

เบเนดิกต์ ฮอฟแมนน์ (Benedikt Hofmann) รองผู้แทน UNODC ประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิกชี้ว่า Telegram เป็น ‘สภาพแวดล้อมที่สำรวจได้ง่าย’ ของอาชญากร แต่ก็เท่ากับว่าสำหรับผู้บริโภคแล้ว ข้อมูลของพวกเขาตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกป้อนให้กับขบวนการต้มตุ๋น หรืออาชญากรรมประเภทอื่น ๆ มากกว่าที่เคย

รายงานชี้ว่าผลกำไรมหาศาลที่กลุ่มอาชญากรได้รับ ทำให้พวกนี้จำเป็นต้องปรับโฉมในการปฏิบัติการ โดยอาศัยการใช้ ‘โมเดลธุรกิจ’ และเทคโนโลยีแบบใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นมัลแวร์ AI เชิงสังเคราะห์ หรือ Deepfake ก็ตาม โดยมีการพบผู้ให้บริการ Deepfake มากกว่า 10 เจ้าที่ตั้งใจขายให้กับกลุ่มอาชญากรเป็นหลัก