คณะกรรมการรางวัลโนเบลของสภาวิทยาศาสตร์สวีเดนได้มอบรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ 2024 ให้แก่ John Hopfield (จอห์น ฮอปฟิลด์) ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน และเจฟฟรีย์ ฮินตัน (Geoffrey Hinton) ศาสตราจารย์กิตติคุณแห่งมหาวิทยาลัยโตรอนโต ซึ่งทั้ง 2 ท่านได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้วางรากฐานแมชชีนเลิร์นนิงที่ทำให้เทคโนโลยีเอไอมีความก้าวหน้ามาจนถึงทุกวันนี้ โดยการสร้างโครงข่ายประสาทเทียมที่เลียนแบบโครงสร้างสมองมนุษย์ในช่วงทศวรรษ 1980

โครงข่ายประสาทเทียมเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เอไอสามารถเรียนรู้ข้อมูลตัวอย่าง โดยเลียนแบบการทำงานของสมองมนุษย์ ซึ่งนักพัฒนาเอไอจะฝึกให้โครงข่ายประสาทเทียมจดจำรูปแบบข้อมูลที่ป้อนเข้าไป จากเดิมการเทรนแมชชีนเลิร์นนิงผู้พัฒนาต้องสกัดฟีเจอร์หรือคุณลักษณะที่สำคัญออกมาจากชุดข้อมูลเอง ส่วนโครงข่ายประสาทเทียมจะจดจำรูปแบบข้อมูลแล้วแยกฟีเจอร์ออกมาได้เลย ซึ่งเป็นพื้นฐานของเอไอที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน เช่น โมเดลภาษาขนาดใหญ่ และการจดจำรูปภาพ

ฮอปฟิลด์ เป็นผู้สร้างโครงข่ายฮอปฟิลด์ที่สามารถจัดเก็บรูปแบบและมีวิธีการสร้างรูปแบบขึ้นมาใหม่ได้ โครงข่ายทั้งหมดมีลักษณะที่เทียบได้กับพลังงานในระบบสปินที่พบในฟิสิกส์ เพื่อให้เข้าถึงระดับพลังงานขั้นต่ำในพื้นที่ ซึ่งโครงข่ายประสาทเหล่านี้สามารถใช้เป็นหน่วยความจำแบบเชื่อมโยง ส่วนฮินตันเป็นผู้สร้าง Boltzmann Machine โครงข่ายประสาทเทียมที่ประกอบด้วยเซลล์ประสาทที่เชื่อมต่อกัน ซึ่งสามารถตัดสินใจแบบสุ่มได้โดยใช้เทคนิคทางฟิสิกส์เชิงสถิติ

ฮินตัน มีฉายาว่า ‘บิดาแห่งปัญญาประดิษฐ์’ ได้ร่วมกับนักศึกษา 2 คนจากมหาวิทยาลัยโตรอนโตสร้างเครือข่ายประสาทเทียมในปี 2012 ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ อิลยา ซุตสเคเวอร์ ต่อมาปี 2013 Google ได้ซื้อบริษัท DNNResearch ของฮินตันและจ้างเขาทำงานที่นั่นด้วย ส่วนซุตสเคเวอร์ก็ได้เข้ามาร่วมกับ Google แล้วต่อมาก็ลาออกไปร่วมก่อตั้ง OpenAI และได้ลาออกไปตั้งบริษัทใหม่ และปี 2023 ฮินตันได้ลาออกจาก Google เขาได้เปิดเผยเกี่ยวกับอันตรายของเอไอที่อาจเป็นภัยคุกคามจนควบคุมไม่ได้ และรู้สึกเสียใจกับผลงานของเขาในสาขานี้ ซึ่งเป็นแนวทางให้กับเอไอในปัจจุบัน เช่น ChatGPT