ทุกวันนี้เราคงได้เห็นการใช้เทคโนโลยีแทรกซึมอยู่ในทุกภาคส่วนของการทำงานจนชินตา ทั้งระบบเอไอ – หุ่นยนต์ ที่เข้ามามีบทบาทกับชีวิตประจำวันเรามากขึ้น แม้แต่ในวงการอุตสาหกรรมต่าง ๆ ก็มีให้เห็น เช่น การผลิต การขนส่ง การวิเคราะห์ ฯลฯ ต่างก็มีเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนช่วยให้ทำงานได้สะดวกมากขึ้น แต่อีกหนึ่งวงการที่นำเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้ได้น่าสนใจนั่นก็คือ ‘วงการสาธารณสุข’
วงการสาธารณสุขกำลังเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก ไม่ว่าจะปัญหาค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นเป็นประวัติศาสตร์ จำนวนประชากรที่เยอะขึ้น และอีกหลายส่วนก็กำลังเข้าสู่วัยเกษียณ ทำให้องค์กรด้านสุขภาพกำลังเผชิญกับภาระงานที่เพิ่มขึ้น พนักงานทำงานไม่ไหว และต้นทุนการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะด้านการให้บริการทางไกล การดูแลสุขภาพที่บ้าน รวมถึงการทำงานในโรงพยาบาล ซึ่งผลสำรวจความคิดเห็นของสมาคมการแพทย์อเมริกันในปี 2564 พบว่าบุคลากรด้านสุขภาพเกือบ 50% รายงานว่าเกิดอาการเหนื่อยล้าจากการทำงานมากที่สุด
แต่เทคโนโลยีก็สามารถเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้ หุ่นยนต์เข้ามามีบทบาทสำคัญในการแบ่งเบาภาระของพนักงาน การทำงานต่าง ๆ ของมันนั้นมีทั้งความแม่นยำ, ลดโอกาสของข้อผิดพลาดจากมนุษย์ และยกระดับในการให้บริการด้านสุขภาพในทุก ๆ ด้าน โดยเทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่ถูกนำมาใช้ด้านสาธารณสุขก็มีให้เห็นกันบ้างแล้ว นั่นก็คือ
Cobots (โคบอต)
โคบอตมักจะมีรูปร่างเป็นแขนกล ขนาดกะทัดรัด เป็นหุ่นยนต์ที่จะ ‘ทำงานร่วมกับพนักงาน’ เป็นเครื่องมือที่จำเป็นในการแก้ปัญหาภาระงานต่าง ๆ โดยในวงการสาธารณสุข มักใช้ในการผ่าตัดเล็ก หรือขั้นตอนแรก ๆ ของการผ่าตัด มีความแม่นยำสูง ทั้งยังช่วยให้แผลผ่าตัดฟื้นฟูได้เร็วขึ้น
สามารถแบ่งเบาภาระได้หลายงาน เช่น งานที่ต้องใช้แรงกายอย่างการยกผู้ป่วย การขนส่งวัสดุทางการแพทย์ และการจัดเรียงของ ไม่เพียงแต่ลดภาระทางกาย แต่ยังลดความเสี่ยงของการบาดเจ็บระหว่างทำงานได้ด้วย ซึ่งงานวิจัยชี้ให้เห็นว่าการนำโคบอตมาใช้สามารถลดเวลาในการทำงานได้มากถึง 30%
Automation (ระบบการป้อนข้อมูลอัตโนมัติ)
ระบบการป้อนข้อมูลอัตโนมัติกำลังมีความสำคัญมากขึ้นในการบริหารจัดการ เช่น การจัดตารางเวลา การป้อนข้อมูล หากดูจากผลสำรวจของ Medscape แพทย์กว่า 62% ระบุว่างานด้านการบริหารเป็นปัจจัยสำคัญอันดับต้น ๆ ที่ทำให้เกิดอาการเหนื่อยล้า หากดูจากรายงานล่าสุดของ McKinsey & Company แนะนำไว้ว่าการใช้ระบบบันทึกข้อมูลอัตโนมัติสามารถลดเวลาที่ใช้ในงานด้านบริหารจัดการได้ถึง 36% ซึ่งจะนำไปสู่การให้บริการด้านสุขภาพที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
เมื่อเทคโนโลยีเหล่านี้แพร่หลายมากขึ้น ต้นทุนในการผลิตก็จะยิ่งลดลง ทำให้นวัตกรรมทางการแพทย์ที่กำลังเกิดขึ้นในอนาคตเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งรัฐบาลก็ต้องคอยสนับสนุนเงินทุนเพื่อให้เทคโนโลยีเหล่านี้สามารถใช้งานได้กว้างขวาง ครอบคลุมทุกหนแห่ง
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การนำหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในวงการสาธารณสุข ย่อมสร้างความกังวลแก่ประชาชนทั่วไป ถึงประเด็นต่าง ๆ เช่น ความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ ความปลอดภัยของข้อมูล หรือจะมาแทนที่มนุษย์ในการทำงาน และใครจะเป็นผู้รับผิดชอบเมื่อระบบหุ่นยนต์ทำงานผิดพลาด เรื่องเหล่านี้ก็ต้องเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่นำมาใช้ ดูแลกำกับแนวทางเพื่อให้แน่ใจว่าเทคโนโลยีเหล่านี้ถูกนำมาใช้ได้อย่างไร้ข้อกังวล
อย่างไรก็ตาม การนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้ดูแลสุขภาพนั้นไม่ได้เป็นเพียงแค่แนวโน้มในอนาคตอีกต่อไป แต่กำลังถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะในด้านการวินิจฉัยโรคด้วยหุ่นยนต์ การบริหารจัดการด้านสุขภาพด้วย AI และการผ่าตัดที่มีความแม่นยำสูง ซึ่งเป็นด้านที่เทคโนโลยีเหล่านี้สามารถทำได้จริง การนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ จะทำให้อุตสาหกรรมการสาธารณสุขดูแลรองรับผู้ป่วยได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และสามารถวางรากฐานที่สำคัญในวงการสาธารณสุขสำหรับนวัตกรรมมากมายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต (และอีกหลายทศวรรษ)