ศาสตราจารย์ เปรม คูมาร์ (Prem Kumar) แห่งมหาวิทยาลัยนอร์ตเวสเทิร์นในสหรัฐอเมริกา เป็นหัวหน้าคณะวิจัยที่ค้นพบการเทเลพอร์ตด้วยควอนตัมที่ทำให้การส่งข้อมูลมีความเร็วเกือบเท่าแสง ตีพิมพ์อยู่บนวารสาร Optica โดยได้รับเงินสนับสนุนจากกระทรวงพลังงานของสหรัฐฯ

คูมาร์ชี้ว่าผลการวิจัยแสดงให้เห็นถึงหนทางสู่เทคโนโลยีควอนตัมยุคใหม่ที่จะสามารถอยู่ร่วมกับโครงข่ายแบบดั้งเดิมภายใต้โครงสร้างพื้นฐานแบบใยแก้วนำแสงหรือไฟเบอร์ออปติก เป็นการผลักการสื่อสารแบบควอนตัมให้ไปสู่อีกระดับหนึ่ง

รูปแบบการส่งข้อมูลใหม่นี้อาจทำให้การสื่อสารมีความปลอดภัยมากขึ้นมากและรวดเร็วจนแทบจะทันที จำกัดอยู่แค่ที่ความเร็วแสง (ความเร็วแสง = ราว ๆ 299,792 กิโลเมตรต่อวินาที)

วิธีการทำงาน

การเทเลพอร์ตแบบควอนตัมใช้ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า การพัวพันเชิงควอนตัม (Quantum Teleportation) ที่อนุภาค 2 ตัวเชื่อมโยงเข้าหากัน ไม่ว่าจะอยู่ห่างกันเท่าใดก็ตาม และไม่จำเป็นจะต้องเดินทางไปหากันในเชิงกายภาพเมื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน

การสื่อสารในแบบควอนตัมใช้เพียงแค่โฟตอนหรืออนุภาคของแสงเพียงแค่เป็นคู่เท่านั้น ไม่จำเป็นต้องใช้โฟตอนหลายล้านตัวเหมือนการสื่อสารในรูปแบบปัจจุบัน โดยก่อนหน้านี้ นักวิจัยไม่รู้ว่าโฟตอนเหล่านี้จะสามารถเชื่อมต่อกันท่ามกลาง ‘ทางด่วน’ แห่งอนุภาคการสื่อสารที่จอแจได้ หากจะเทียบให้เห็นภาพก็คงเป็นเหมือนกับจักรยานที่พยายามจะแทรกตัวผ่านบรรดารถบรรทุกขนาดยักษ์ในอุโมงค์ใต้ดิน

ศ. เปรม คูมาร์ (ที่มา Northwestern University)

แต่ในการวิจัยครั้งใหม่ ทีมวิจัยจากนอร์ตเวสเทิร์นค้นพบวิธีนำทางโฟตอนทะลุผ่านช่องทางสื่อสารดังกล่าวไปได้ โดยเริ่มจากการศึกษาวิธีการกระจายของแสงภายในสายใยแก้วนำแสง และพยายามค้นหาความยาวคลื่นของแสงในช่วงที่จะได้รับการรบกวนน้อยที่สุดจากสัญญาณอื่น ๆ ทำให้โฟตอนสามารถผ่านไปได้ง่ายขึ้น เมื่อพบแล้ว ทีมวิจัยได้วางโฟตอนในช่วงความยาวที่ว่านี้ พร้อมกับตัวกรองพิเศษที่จะลดสิ่งรบกวนจากการจราจรอินเทอร์เน็ต (traffic)

ทีมวิจัยทดสอบผลการค้นพบด้วยการติดตั้งสายใยแก้วนำแสงความยาว 30 กิโลเมตรที่มีโปรตอนติดไว้ที่ปลายสายแต่ละด้าน และปล่อยทั้งสัญญาณอินเทอร์เน็ตและข้อมูลควอนตัมไปพร้อม ๆ กัน ผลก็คือทีมวิจัยประสบความสำเร็จในการส่งข้อมูลควอนตัมทะลุอินเทอร์เน็ตเข้าไป และยังอยู่ในคุณภาพที่ดีอีกด้วย

คูมาร์ชี้ใช้เห็นว่าการวิจัยนี้ทำให้เรารู้ว่าไม่จำเป็นต้องมีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่เพื่อรองรับการสื่อสารในรูปแบบใหม่ ๆ เนื่องจากข้อมูลควอนตัมสามารถไหลผ่านสายใยแก้วนำแสงแบบเดิม ๆ ได้

ทั้งนี้ คูมาร์ยังมีแผนจะทดสอบการเทเลพอร์ตควอนตัมในระยะทางที่ไกลขึ้นอีก และจะใช้คู่โฟตอนเพิ่มจาก 1 เป็น 2 คู่ โดยจะทดสอบการสลับคู่โฟตอนที่ไม่เคยพัวพันกันมาก่อน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มคุณภาพและความปลอดภัยของการส่งข้อมูล และถัดจากนั้น ทีมวิจัยจะทดสอบทุกวิธีการในสายที่อยู่ใต้ดิน ก่อนจะนำรูปแบบการส่งข้อมูลควอนตัมไปใช้จริงต่อไป