NASA และ Boeing กำลังทำงานร่วมกันเพื่อปรับปรุงและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของยาน Starliner ให้ผ่านการรับรองสำหรับการทำภารกิจทดสอบบินที่มีนักบินอวกาศไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) อีกครั้ง ในช่วงปลายปี 2025 หรือต้นปี 2026 ซึ่งถือว่าเป็นภารกิจแก้มือ หลังจาก Boeing ได้ทำภารกิจดังกล่าวไปแล้วเมื่อกลางปี 2024 แต่ไม่สำเร็จเพราะยานมีปัญหา ส่งผลให้นักบินอวกาศต้องค้างอยู่บน ISS นานถึง 9 เดือน และพึ่งกลับมายังโลกด้วยยาน SpaceX Dragon เมื่อช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา

ปี 2014 NASA ได้เปิดตัวโครงการให้บริการโดยสารนักบินอวกาศไปกลับระหว่างโลกกับ ISS เชิงพาณิชย์ (CCP) โดยมอบสัญญาให้แก่ 2 บริษัทคือ Boeing และ SpaceX ในการพัฒนายานอวกาศ และต้องครอบคลุมการทดสอบเที่ยวบินที่มีนักบินอวกาศอย่างน้อย 1 ครั้ง ซึ่งเดือนมีนาคม 2019 SpaceX ได้ทดสอบส่งแคปซูลอวกาศ Crew Dragon เปล่า ๆ ไปกลับ ISS ได้สำเร็จในภารกิจ Demo-1 (Uncrewed Test Flight) และต่อมาได้ส่งแคปซูลอวกาศ Crew Dragon ที่มีนักบินอวกาศโดยสารไปกลับ ISS ได้สำเร็จในภารกิจ Demo-2 (Crewed Test Flight) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2020 แล้วก็ได้ผูกขาดส่งนักบินอวกาศให้กับ NASA มาจนถึงตอนนี้

สรุปแล้วการทดสอบหลัก ๆ จะมี 2 ภารกิจ คือปล่อยยานเปล่าบินไปกลับโลกกับ ISS เพื่อให้แน่ใจว่าระบบของยานทำงานได้อย่างสมบูรณ์ และอีกภารกิจก็เป็นการบินทดสอบแบบเดิม แต่จะมีนักบินอวกาศโดยสารไปด้วย ซึ่งเมื่อผ่านแล้วก็จะได้ใบรับรองและรับงานในการส่งนักบินอวกาศให้กับ NASA แต่การทดสอบของ Boeing ทั้ง 2 ภารกิจไม่เคยทำได้ครั้งเดียวจบ

20 ธันวาคม 2019 Boeing ได้ปล่อยยาน Starliner ที่ไม่มีนักบินอวกาศโดยสาร (Orbital Flight Test : OFT) ไปยัง ISS เป็นครั้งแรก แต่กลับพลาดใช้เชื้อเพลิงมากเกินไป จนต้องเดินทางกลับสู่โลกก่อนที่จะไปถึง จากนั้นสามารถทำภารกิจ OFT-2 ได้สำเร็จเมื่อเดือนพฤษภาคม 2022 แต่ก็พบปัญหาว่าก่อนที่เข้าสู่วงโคจรตัวขับดัน 2 ตัวไม่สามารถจุดระเบิดได้

5 มิถุนายน 2024 Boeing ได้ทดสอบ Crew Flight Test (CFT) ส่งยานอวกาศ Starliner พร้อมนักบินอวกาศไปสู่อวกาศและจอดเทียบท่า ISS ได้สำเร็จ แต่เนื่องจากพบว่ายานมีปัญหาเครื่องขับดันเสียและมีก๊าซฮีเลียมรั่วไหล จึงตัดสินใจส่งยานเปล่ากลับสู่โลก โดยให้นักบินอวกาศ บัช วิลมอร์ (Butch Wilmore) และซูนี วิลเลียมส์ (Suni Williams) รอกลับโลกด้วยยาน SpaceX Dragon

ล่าสุด NASA เผยว่ายาน Starliner ที่กลับจากส่งนักบินอวกาศค้างอยู่ที่ ISS ได้ถูกตรวจสอบพบว่ามีการทำงานผิดปกติทั้งซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ คือที่แผงควบคุมในส่วนของซอฟต์แวร์ และความผิดปกติในระบบขับดันระหว่างอยู่ในวงโคจร ซึ่งตอนนี้กำลังกำหนดกรอบเวลาในการทดสอบระบบขับดันในช่วงฤดูใบไม้ผลิ (ไตรมาสที่ 2) และฤดูร้อน (ไตรมาสที่ 3) ของปี 2025 พร้อมตรวจสอบโมดูลความร้อนเพื่ออัปเกรดระบบให้สมบูรณ์ เมื่อทดสอบเสร็จก็น่าจะกำหนดได้ว่าจะทำภารกิจ CFT2 เมื่อไหร่ ซึ่งคาดว่าเป็นช่วงปลายปี 2025 หรือต้นปี 2026

โครงการนี้ Boeing ได้งบประมาณจาก NASA เมื่อปี 2014 จำนวน 4,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (142,434 ล้านบาท) และปี 2019 ได้รับเพิ่มเป็น 4,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (152,612 ล้านบาท) ทั้งนี้ล่าสุดมีรายงานว่า Boeing ได้ขาดทุนกับโครงการนี้ไปแล้วทั้งหมดกว่า 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (67,859 ล้านบาท) ซึ่งไม่แน่ใจว่าการทำโครงการนี้ต่อไปจะคุ้มค่าหรือไม่ เพราะ NASA จะปลดระวาง ISS ในปี 2030 และ NASA ได้มอบสัญญาจ้างเพิ่มเติมให้แคปซูลอวกาศ SpaceX Crew Dragon ส่งนักบินอวกาศไปกลับ ISS ไปจนถึงปี 2030 แต่ถ้ามองอีกมุม Boeing จะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีอวกาศเพื่อเข้าร่วมโครงการต่อ ๆ ไป ส่วน NASA จะได้ยานอวกาศไว้สำรองหากยานหรือบริษัท SpaceX มีปัญหา