ในแวดวงธุรกิจนวัตกรรมอวกาศกำลังคึกคัก ล่าสุด เอเธอร์ฟลักซ์ (Aetherflux) สตาร์ทอัพด้านพลังงานแสงอาทิตย์จากอวกาศ สามารถระดมทุนซีรีส์ A ได้ถึง 50 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 1,650,000,000 บาท เพื่อใช้เป็นทุนตั้งต้นสำหรับปล่อยดาวเทียมทดสอบวงโคจรต่ำในปี 2026 ซึ่งสร้างความฮือฮาในวงการลงทุนด้านอวกาศเป็นอย่างมาก

Baiju Bhatt

ผู้อยู่เบื้องหลังแนวคิดสุดล้ำนี้คือ ไบจู บัตต์ (Baiju Bhatt) มหาเศรษฐีอดีตผู้ร่วมก่อตั้งแพลตฟอร์ม Robinhood แพลตฟอร์มซื้อขายสินค้า โดยเขาได้ก่อตั้งเอเธอร์ฟลักซ์มาตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว เป้าหมายหลักคือการสร้างเครือข่ายดาวเทียมวงโคจรต่ำเพื่อรับและส่งต่อพลังงานแสงอาทิตย์ลงมาบนโลก ซึ่งแนวคิดนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากนิยายวิทยาศาสตร์ของ ไอแซค อาซิมอฟ (Isaac Asimov) ตั้งแต่ปี 1941 แต่คราวนี้ ไบจู บัตต์ ต้องการเปลี่ยนแนวคิดจากนิยายให้กลายเป็นจริง

หลังการระดมทุนครั้งนี้ ยอดเงินที่เอเธอร์ฟลักซ์มีในการพัฒนาเทคโนโลยีก็ขยับไปอยู่ที่ 60 ล้านเหรียญ หรือราวๆ 1,980,000,000 บาท เนื่องจากไบจู บัตต์ ได้ลงทุนส่วนตัวไปก่อนหน้านี้ถึง 10 ล้านเหรียญ รอบระดมทุนล่าสุดนำโดย Index Ventures และ Interlagos พร้อมด้วยกองทุน Breakthrough Energy Ventures ของบิล เกตส์ (Bill Gates) รวมถึง Andreessen Horowitz, NEA และนักลงทุนที่น่าสนใจอย่าง จาเรด เลโต (Jared Leto) ก็ร่วมด้วย

เอเธอร์ฟลักซ์กำลังเร่งจ้างวิศวกรและผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดาวเทียมเพื่อพัฒนาดาวเทียมที่จะขึ้นไปทดลองโคจรในวงโคจรต่ำ โดยไบจู บัตต์ ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ได้อธิบายว่า ทีมของเขาประกอบด้วยผู้มีประสบการณ์จาก NASA, SpaceX, Lockheed Martin, Anduril และกองทัพเรือสหรัฐฯ ซึ่งหน้าที่สำคัญคือการสร้างเพย์โหลด (payload) ที่จะติดตั้งไว้บนโครงสร้างหลักของดาวเทียม เพื่อเปลี่ยนพลังงานจากแสงอาทิตย์ให้กลายเป็นพลังงานเลเซอร์แล้วส่งตรงสู่โลก

สำหรับสถานีภาคพื้นดิน (ground stations) ที่จะรองรับพลังงานเลเซอร์นี้ เอเธอร์ฟลักซ์วางแผนออกแบบให้มีขนาดกะทัดรัดราว 5-10 เมตรเท่านั้น โดยออกแบบแผงโซลาร์เซลล์และระบบแบตเตอรี่ให้รองรับการแปลงพลังงานเพื่อเก็บไว้ใช้งานได้ทุกสภาพอากาศ จุดประสงค์สำคัญคือการกระจายพลังงานไฟฟ้าสู่พื้นที่ห่างไกลหรือพื้นที่ทุรกันดารได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในปี 2026 แผนการทดสอบคือการส่งพลังงานเลเซอร์จากดาวเทียมกลับมาสู่สถานีภาคพื้นดินแบบเรียลไทม์ โดยวัดผลว่าการส่งพลังงานกลับมาใช้งานจริงบนโลกได้หรือไม่ ซึ่งหากทำได้สำเร็จ จะเป็นครั้งแรกที่เทคโนโลยีรูปแบบนี้ถูกทดสอบแบบครบวงจร ตั้งแต่การผลิตพลังงานในวงโคจร การรับส่งผ่านเลเซอร์ ไปจนถึงการใช้งานได้จริง