ในปี 2024 หุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ G1 ได้แสดงศักยภาพในหลายด้าน ทั้งท่าทางการต่อสู้ การเคลื่อนไหวที่ลื่นไหล จนแทบไม่อยากเชื่อว่านี่เรากำลังดูหุ่นยนต์จริง ๆ หรือเป็นภาพจาก AI กันแน่
ล่าสุด บริษัท Unitree จากประเทศจีน ผู้พัฒนา G1 ได้สร้างความฮือฮาอีกครั้ง ด้วยการอัปเกรดระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ให้มีความฉลาดและตอบสนองได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ส่งให้ ‘G1’ กลายเป็นหุ่นยนต์ตัวแรกของโลกที่สามารถตีลังกาด้านข้าง (Side Flip) ได้สำเร็จ !
Unitree เผยให้เห็นความสามารถสุดล้ำของ G1 ในการทำ Side Flip หรือท่าตีลังกาด้านข้าง โดยหุ่นยนต์จะใช้ขาซ้ายในการรับน้ำหนักเป็นหลัก และสามารถทรงตัวได้แทบจะทันทีเมื่อเท้าอีกข้างแตะพื้น
ดูปกติว่าน่าทึ่งแล้ว แต่ถ้าเราดูในแบบสโลว์โมชันก็ยิ่งรู้สึกทึ่งขึ้นไปอีก โดยเฉพาะจังหวะการลงพื้น ที่ G1 สามารถทรงตัวได้อย่างมั่นคงโดยไม่มีข้อผิดพลาดหรือความเสียหายใด ๆ ราวกับนักกายกรรมมาเอง
ความสำเร็จครั้งนี้แสดงให้เราเห็นถึงความก้าวหน้าอย่างมากในด้านระบบการควบคุม การทรงตัว และความแม่นยำของหุ่นยนต์ ซึ่งนับเป็นอีกก้าวสำคัญในการพัฒนาหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ให้เข้าใกล้ความสามารถของมนุษย์มากยิ่งขึ้น
Side Flip ได้แล้วมันเจ๋งยังไง ?
หลัก ๆ จะเป็นเรื่องของการควบคุมแรง สมดุล และโมเมนตัมที่คำนวณ ‘ยาก’
เพราะการกระโดดของหุ่นยนต์ต้องอาศัยการปล่อยแรงในช่วงเวลาสั้น ๆ ควบคู่ไปกับการจัดการโมเมนตัมของตัวหุ่นยนต์ ซึ่งต้องคำนวณและปรับแรงให้แม่นยำตลอดการเคลื่อนไหว ต้องรักษาสมดุลอย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันไม่ให้ล้มในตอนที่ลงมา ซึ่งต้องอาศัยเซนเซอร์ที่แม่นยำและระบบควบคุมที่ตอบสนองได้ในทันที
ความท้าทายที่ยากอีกหนึ่งอย่างก็คือ การพัฒนาโคดที่สามารถคำนวณได้อย่างถูกต้อง และปัจจัยหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นวัสดุที่ใช้รองรับแรงกระแทกหรือการคำนวณแรงกระทำต่าง ๆ
การตีลังกาหลัง (Backflip) ที่เราเคยเห็นในหุ่นยนต์เป็นท่าที่ต้องเขียนโคดซับซ้อนอยู่แล้ว แต่การตีลังกาด้านข้าง (Side Flip) กลับยากยิ่งขึ้นไปอีก เนื่องจากต้องอาศัยการควบคุมโมเมนตัมและสมดุลในแนวระนาบที่ซับซ้อนกว่ามาก ๆ

การที่หุ่นยนต์ G1 สามารถกระโดด Side Flip ได้นั้น มาจากการฝึกโดยใช้เทคนิคหลักอย่าง ‘Reinforcement Learning’ ซึ่งเป็นวิธีการเรียนรู้แบบลองผิดลองถูก ที่ช่วยให้หุ่นยนต์สามารถเรียนรู้การเคลื่อนไหว โต้ตอบ และปรับตัวกับสภาพแวดล้อมในโลกจริงได้
เทคโนโลยีเดียวกันนี้ยังถูกนำไปใช้โดยบริษัท Figure ในการฝึกหุ่นยนต์ Figure 02 เพื่อให้เคลื่อนไหวและแสดงพฤติกรรมต่าง ๆ ได้เหมือนมนุษย์มากยิ่งขึ้นอีกด้วย
G1 เป็นหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ที่มีขนาดใกล้เคียงกับมนุษย์
- มีความสูง 4.3 ฟุต (1.3 เมตร)
- น้ำหนักประมาณ 77 ปอนด์ (35 กิโลกรัม)
ตัวหุ่นติดตั้งเซนเซอร์ LiDAR แบบ 3 มิติ ทำให้สามารถมองเห็นรอบตัวได้แบบ 360 องศา - นอกจากจะเคลื่อนไหวได้คล่องแคล่วแล้ว G1 ยังสามารถเดินและวิ่งได้ด้วยความเร็วสูงสุดถึง 2 เมตรต่อวินาที หรือประมาณ 7.2 กิโลเมตรต่อชั่วโมงอีกด้วย
เก่งขนาดนี้ แล้วในอนาคตเราจะได้เห็นกองทัพฮิวแมนนอยด์ไหม ?
หากกองทัพหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์เกิดขึ้นจริง มันก็อาจมีข้อดีตรงที่เราสามารถส่งหุ่นยนต์ไปทำภารกิจที่เสี่ยงอันตรายได้ เช่น การกู้ระเบิด การลาดตระเวนในพื้นที่เสี่ยง หรือการสู้รบในแนวหน้า ก็จะช่วยลดความสูญเสียของทหารจริง ๆ ได้ด้วย และที่สำคัญคือสามารถปฏิบัติภารกิจได้ต่อเนื่องโดยไม่ต้องพัก ไม่มีเหนื่อย ไม่ต้องกังวลเรื่อง ’สภาพจิตใจในการทำงาน’ ที่จำเป็นมากกับงานเสี่ยงภัยอันตราย
แต่ถ้าพูดเรื่องระบบหุ่นยนต์แล้วมันก็มีความเสี่ยงในด้านความปลอดภัย หรือเรื่องการโดนแฮกระบบ เพราะหากระบบของหุ่นยนต์ถูกแฮก ก็อาจทำให้เกิดหายนะทางการทหารได้ เช่น หุ่นยนต์โจมตีฝ่ายเดียวกัน
อีกเรื่องคือหุ่นยนต์ไม่มีสำนึกทางศีลธรรม หากถูกตั้งโปรแกรมผิดพลาดหรือมี AI ที่ไม่สามารถแยกแยะเป้าหมายได้ชัดเจน ก็อาจเกิดเหตุการณ์ที่หุ่นยนต์ทำร้ายผู้คนทั่วไปโดยไม่ตั้งใจ
โดยรวมแล้วเทคโนโลยีนี้อาจช่วยเพิ่มศักยภาพทางทหารได้ แต่ก็ควรมีการควบคุมและมาตรการป้องกันที่ดี เพื่อไม่ให้กลายเป็นภัยคุกคามที่เราไม่สามารถควบคุมได้ในอนาคต
ทางบริษัท Unitree เผยว่า พวกเขาตั้งใจจะให้หุ่นยนต์ G1 รวมถึงรุ่นต่อ ๆ ไปในอนาคต สามารถทำงานได้หลากหลาย ตั้งแต่ช่วยงานบ้านทั่วไป ไปจนถึงภารกิจในภาคอุตสาหกรรม และแม้กระทั่งงานกู้ภัยในสถานการณ์อันตราย ซึ่งทั้งหมดนี้คือเป้าหมายในการพัฒนาให้หุ่นยนต์มีบทบาทช่วยเหลือมนุษย์ในหลากหลายด้านมากขึ้นในอนาคต