ปัจจุบันกระแส AI กำลังมาแรงจนทำให้บริษัทเทคโนโลยีต่างแข่งขันกันสร้างดาตาเซนเตอร์เพิ่มมากขึ้น แต่การหาที่ตั้งนั้นยากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะชาวบ้านบริเวณนั้นออกมาต่อต้านว่า จะทำให้พลังงานไฟฟ้าและน้ำสำหรับระบายความร้อนไม่เพียงพอ ล่าสุดบริษัท Lonestar Data Holdings ได้เผยแนวคิดจะสร้างดาตาเซนเตอร์ในอวกาศ เพื่อความปลอดภัยแก่ข้อมูลของลูกค้าและพลังงานจากแสงอาทิตย์ที่ไม่มีวันหมด

แนวคิดนี้เกิดขึ้นหลังจากที่บริษัทได้ทำการทดสอบศูนย์ข้อมูลขนาดเล็ก (เท่าปกหนังสือ) ซึ่งถูกส่งออกไปกับยาน Athena Lunar Lander ของบริษัท Intuitive Machines ที่ขับดันด้วยจรวดของ SpaceX เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

การสร้างดาตาเซนเตอร์ที่อยู่ในวงโคจรบนอวกาศและบนดวงจันทร์ มีข้อดีคือมีพลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ใช้ได้ไม่จำกัด และไม่ต้องกลัวชาวบ้านออกมาประท้วงว่ากระทบต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งสามารถให้บริการถ่ายโอนข้อมูลแก่ยานอวกาศหรือดาตาเซนเตอร์อื่น ๆ ที่อยู่ในอวกาศได้เร็วกว่าการถ่ายโอนกับภาคพื้นดิน

ฤดูร้อนปี 2024 ได้มีการศึกษาเกี่ยวกับดาตาเซนเตอร์บนวงโคจรในโครงการ Ascend ที่จัดทำโดย Thales Alenia Space เผยว่าการตั้งดาตาเซนเตอร์บนอวกาศจะเปลี่ยนแปลงการจัดการข้อมูลดิจิทัลให้กับยุโรป และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทั้งนี้ Thales Alenia Space คาดว่าจะสร้างกลุ่มดาวเทียม 13 ดวง ที่มีขนาดรวมแล้วทั้งหมดเป็น 200×80 เมตร พร้อมกำลังในการประมวลผลข้อมูลราว ๆ 10 เมกะวัตต์ ขนาดเทียบเท่าดาตาเซนเตอร์บนพื้นโลกที่มีเซิร์ฟเวอร์รวม ๆ กันอยู่ประมาณ 5,000 เครื่อง

สถาปนิกในโครงการนี้เผยว่า ถ้าจะให้ดาตาเซนเตอร์บนวงโคจรเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าที่ใช้กันบนภาคพื้นดิน จำเป็นต้องใช้เชื้อเพลิงจรวดขับดันที่ปล่อยมลพิษน้อยลงจากเดิม 10 เท่า ซึ่งดู ๆ แล้วน่าจะทำได้ นอกจากนี้เพื่อให้คุ้มค่าควรเพิ่มขนาดกำลังการประมวลผลเป็น 200 เมกะวัตต์ ซึ่งต้องใช้โครงสร้างพื้นฐานบนอวกาศขนาดใหญ่ 200 แห่ง และต้องปล่อยจรวดขนส่ง 200 ครั้ง แต่ก็ต้องรอยานอวกาศที่ดัดแปลงพร้อมใช้งานในปี 2030 หรือ 2035 ซึ่งจะให้บริการดาตาเซนเตอร์บนวงโคจรได้ก่อนปี 2037

ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่า ปัจจุบันระบบขนส่งอวกาศขนาดใหญ่กำลังพัฒนาโดย SpaceX ที่มีความก้าวหน้าอย่างเห็นได้ชัด แต่การขนส่งโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่มีอุปกรณ์จำนวนมากไปบนอวกาศ จำเป็นต้องใช้เงินมากมายหลายพันล้านเหรียญสหรัฐฯ (หลายแสนล้านบาท) แถมสภาพแวดล้อมบนอวกาศสามารถสร้างความเสียหายให้กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้ และเมื่อพังเป็นซากแล้วก็จะกลายเป็นขยะอวกาศอีก อีกอย่างอย่าลืมว่าเวลาเครื่องเสียบนอวกาศใครจะบินขึ้นไปซ่อมได้บ่อย ซึ่งถ้าสั่งงานหุ่นยนต์อัตโนมัติจากระยะไกลก็ใช่จะทำได้ง่าย ๆ และมีความเสี่ยงที่ระบบจะหยุดทำงานนานเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน

Lonestar เผยว่ามีแผนสร้างดาตาเซนเตอร์บนวงโคจรรอบดวงจันทร์ในปี 2027 ซึ่งจะจับกลุ่มลูกค้ารัฐบาลและบริษัทที่เน้นความปลอดภัยของข้อมูล เพราะไม่ต้องส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายภาคพื้นดิน แถมเซิร์ฟเวอร์อยู่ห่างไกลถึงดวงจันทร์ถ้าจะแฮกก็คงยากหน่อย แต่การส่งข้อมูลจากดวงจันทร์มายังพื้นโลกจะใช้เวลา 1 วินาทีครึ่ง เพราะระยะทางไกลมาก แต่ไม่มีผลกระทบสำหรับบางแอปฯ ที่เน้นใช้งานสำหรับการเก็บสำรองข้อมูลระยะยาว

ข้อดีอีกอย่างคือ ศูนย์ข้อมูลในอวกาศอยู่ภายใต้กฎระเบียบเกี่ยวกับ Data sovereignty คือข้อมูลของประชาชนประเทศใดก็ต้องจัดเก็บประมวลผลอยู่ในประเทศนั้น ซึ่งการจัดเก็บข้อมูลบนอวกาศไม่ได้อยู่ในเขตแดนของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่จะอยู่ภายใต้กฎหมายของประเทศที่ปล่อยยานขนส่งเท่านั้น หลักการจะคล้าย ๆ กับสถานทูตนั่นเอง คือสถานทูตไทยที่ตั้งอยู่ในสหรัฐฯ จะอยู่ภายใต้กฎหมายของประเทศไทย (บางส่วน) แม้จะตั้งอยู่ในสหรัฐฯ ก็ตาม สุดท้ายตอนนี้บริษัทได้มีลูกค้าแล้ว คือรัฐฟลอริดาและรัฐบาลเกาะแมน