Nokia 3310 ได้กลับมาอีกครั้งในรอบ 17 ปี แต่มันรองรับเพียงแค่คลื่นความถี่ 2G (900 MHz และ 1800 MHz) เท่านั้น ซึ่งผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือหลายรายทั่วโลกได้ยุติการรองรับไปแล้ว เช่นนี้แล้ว ประเทศใดจะรองรับการใช้งาน Nokia 3310 บ้าง และ 2G จะสามารถทำอะไรได้บ้าง
ทำความรู้จัก 1G, 2G, 3G, 4G
เริ่มต้นกันที่ 1G (9 กิโลบิตต่อวินาที) เป็นคลื่นความถี่ที่ใช้กับโทรศัพท์ยุค 1980 ซึ่งมีลักษณะตัวเครื่องที่ใหญ่ และไม่สะดวกในการพกพา
ต่อมาในปี 1990 ก็พัฒนาเป็น 2G (64 กิโลบิตต่อวินาที) ซึ่งเป็นสัญญาณดิจิทัลที่ล้ำหน้ากว่า โดยเริ่มใช้เป็นมาตรฐาน GSM ในประเทศฟินแลนด์เป็นประเทศแรก (เรื่องบังเอิญป่าวเนี่ยะ… Nokia ก็มาจากฟินแลนด์นะ) โดยเปลี่ยนการส่งข้อมูลเป็นแบบดิจิทัล และมีการส่ง SMS ได้เป็นครั้งแรก
ต่อมาในปี 2005 ก็เป็นยุคของ 2.5G และ 2.75G (GPRS และ EDGE) และตามมาด้วย 3G ซึ่งในทางทฤษฏีนั้นมีความเร็วมากถึง 21.6 เมกะบิตต่อวินาที และ 4G (LTE) ที่มีความเร็วสูงสุดถึง 100 เมกะบิตต่อวินาที
สรุปง่ายๆก็คือ
- 1G : ยุค Analog สามารถโทรออก-รับสายได้
- 2G : ยุค Digital สามารถโทรออก-รับสายได้, ส่ง SMS ได้
- 3G : ยุคไร้สาย รองรับบริการมัลติมีเดียสมบูรณ์แบบ, รับ-ส่งไฟล์ที่มีขนาดใหญ่ , ดู/ดาวน์โหลดวิดีโอออนไลน์, โทร/Video Call ผ่านสัญญาณอินเตอร์เน็ต, เล่นเกมออนไลน์
- 4G : ยุคไร้สายความเร็วสูง มีความเร็วมากกว่า 3G หลายเท่า
ใครโชคดีได้ใช้ Nokia 3310 รุ่นใหม่บ้าง ?
จากที่กล่าวไว้ข้างต้น แสดงให้เห็นว่า Nokia 3310 นั้น ไม่สามารถใช้งานได้กับผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือส่วนใหญ่ในปัจจุบัน
- สหรัฐอเมริกา ยังมี AT&T และ T-Mobile ให้บริการ 2G อยู่
- ประเทศจีน ผู้ให้บริการเครือข่ายส่วนใหญ่ยังคงรองรับ 2G อยู่
- ยุโรป โชคดีที่ทาง GSMA (หน่วยงานที่กำกับดูแลมาตรฐาน GSM) ยืนยันว่าจะใช้ 2G ได้ถึงปี 2020
สำหรับในประเทศไทยนั้นมีรายละเอียดดังนี้
- AIS : ได้สิ้นสุดระยะเวลาการให้บริการ 2G แล้ว ปัจจุบันเปิดให้บริการเฉพาะ 3G และ 4G เท่านั้น
- Dtac : ยังคงให้บริการ 2G บนคลื่นความถี่ 1800MHz โดยใบอนุญาตจะหมดอายุในวันที่ 15 กันยายน 2561
- True : ให้บริการ 4G และ 2G บนคลื่นความถี่เดียวกัน คือ 900 MHz โดยใบอนุญาตจะหมดอายุในปี 2573
ต้องรอดูกันต่อไปว่าในอนาคตจะมีผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือค่ายใดบ้างที่จะนำ Nokia 3310 มาจำหน่ายในประเทศไทย