คณะกรรมการกสทช. โดยคณะกทค. นำโดย พ.อ.นที ศุกลรัตน์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ Over The Top ได้เชิญผู้ผลิตคอนเทนท์ออนไลน์ และผู้ดูแลแฟนเพจบนเฟซบุ๊ก ซึ่งส่วนใหญ่ ล้วนมีผู้ติดตามมากกว่า 1 ล้านราย เช่น วู้ดดี้, จ่าพิชิต, หมอแล็บแพนด้า, อีจัน, จอห์น วิญญู และรวมไปถึง หนุ่ย พงศ์สุข ในนามของเพจแบไต๋ไฮเทค ก็ได้รับเชิญให้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในครั้งนี้ ซึ่งเราได้จัดรายการสรุปเรื่องราวให้แล้ว
โดยกสทช. ได้เน้นย้ำถึงเรื่องของเนื้อหารายการที่ไม่เหมาะสม รวมไปถึงโฆษณาสินค้าที่ผิดกฎหมาย บนแพลตฟอร์มออนไลน์ รวมถึงเปิดเผยด้วยว่า ผู้ดูแลเพจที่ได้เชิญมาในวันนี้ มีความยินดีที่จะเข้าสู่กระบวนการกำกับและดูแล เพื่อเป็นส่วนหนึ่งกับทางกสทช. ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
ทางด้านความเห็นจากตัวแทนผู้ดูแลเพจที่ได้เข้าร่วมในวันนี้ ต่างให้ความเห็นถึงเรื่องของการสร้างระบบการกำกับ และดูแลคอนเทนท์ออนไลน์ของกสทช. ว่า ต้องให้มีความเท่าเทียมกันในด้านกฎกติกา และมาตรฐานเดียวกัน สำหรับทุกเพจที่เข้าสู่ระบบ OTT ทั้งนี้ ตัวแทนผู้ดูแลเพจกลับมองว่า กฎและกติกาที่ต้องปฏิบัติตามนั้นค่อนข้างยาก จึงเป็นกังวลเรื่องของความซับซ้อนในกติกาที่จะมาปรับใช้ เพราะเกรงว่าจะเป็นการเพิ่มภาระให้กับเพจต่างๆ
รวมถึงได้มองว่า การให้ความร่วมมือในเรื่องดังกล่าวนี้ จะเป็นหนทางในการแก้ไขปัญหาเนื้อหาและโฆษณาที่ไม่เหมาะสมได้อย่างตรงจุด รวมถึงทำให้การประกาศกฎระเบียบดังกล่าวนี้ เป้นไปได้อย่างรวดเร็ว และแก้ไขปัญหาได้อย่างทันสถานการณ์
เสียงส่วนหนึ่งจากผู้ผลิตและแฟนเพจ
จากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งของผู้ที่ได้รับเชิญจากทางกสทช. ได้แสดงความคิดเห็น และสะท้อนแนวคิดของการควบคุมคอนเทนท์ OTT ของกสท. ด้วย
โดยจ่าพิชิต และหมอแล็บแพนด้า ต่างให้ความคิดเห็นว่า กสท. ในฐานะหน่วยงานที่เป็นตัวตั้งตัวตีในเรื่องนี้ ยังไม่มีความชัดเจนในแนวทางการควบคุม รวมถึงแนะให้เรียกตัวแทนจากเพจประเภทสีเทา (เนื้อหาล่อแหลม และโฆษณาไม่เหมาะสม) เข้ามาร่วมพูดคุยและแลกเปลี่ยนด้วย
เช่นเดียวกับจอห์น วิญญู ผู้ก่อตั้ง SpokeDark.TV ก็ได้ให้ความเห็นในทำนองนี้เช่นกัน และได้ชี้แนะเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันนี้ ก็มี พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ฉบับปี 2560 ที่มีข้อกำหนดในการเอาผิดผู้กระทำผิดอยู่แล้ว
การที่มอบหมายอำนาจให้กับบางหน่วยงานในการควบคุมและกำกับนั้น จึงไม่เหมาะกับพื้นที่ออนไลน์ ซึ่งเป็นพื้นที่เสรีในการเผยแพร่ข้อมูลและข่าวสาร
ทางด้านคุณหนุ่ย พงศ์สุข ได้ให้ความเห็นว่า เป็นเรื่องยากที่กสทช. จะเข้ามากำกับและดูแล เพราะปัญหาเกิดขึ้นที่ตัวแพลตฟอร์ม (เฟซบุ๊กและยูทูป) ที่ให้อิสระกับผู้ใช้งานทุกคน จนเกิดช่องโหว่ขึ้นมา
หากเจ้าของแพลตฟอร์มเข้ามาร่วมในระบบนี้ ก็ควรได้รับสิทธิประโยชน์ที่เหนือกว่าผู้ที่ไม่ได้เข้าสู่ระบบ
ส่วนวู้ดดี้ และกาละแมร์ ที่เดินทางมาร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนด้วยนั้น ได้ให้ความเห็นตรงกันว่า
ยังไม่ได้นำเสนออะไรในตอนนี้ และรอให้ทางกสทช. และกสท. สรุปหลักเกณฑ์ในเรื่องดังกล่าวให้ชัดเจนกว่านี้ก่อน
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา กสทช. โดย กสท. ได้เชิญผู้ผลิตคอนเทนท์ในยูทูป (YouTuber) จำนวน 40 ช่อง เข้าแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในกรณีดังกล่าวนี้ด้วย ซึ่งความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของตัวแทน YouTuber ก็ไม่ต่างไปจากการเสนอแนะในวันนี้สักเท่าไหร่
ดูเพิ่ม: สรุปการเสวนา OTT ง่ายๆใน 1 คลิป (โลก Internet จะถูกควบคุมจริงๆหรอ)
ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง สำหรับการควบคุมคอนเทนท์ในโลกออนไลน์ ว่าจะสำเร็จ หรือจะล้มเหลว รวมไปถึงการเท่าเทียมกัน และความเสรีในการผลิตคอนเทนท์นั้น ยังมีอยู่เหมือนเดิมหรือไม่ หลังจากนี้ ทางกสท. จะทำการรวบรวมความคิดเห็น ประชุมและพิจารณา ก่อนการประกาศใช้งานจริง
ที่มา: PPTV, Manager, VoiceTV, Dailynews, Positioning