ในโลกของยุคปัจจุบัน นอกจากสื่อโซเชียลมีเดียจะเข้ามาเป็นหนึ่งในส่วนสำคัญของชีวิตประจำวันแล้ว วิดีโอเกมถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สามารถเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้เล่นในโลกของความเป็นจริงมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งมีผลวิจัยล่าสุดจาก ระบุว่า ชายวัยทำงานตั้งแต่อายุ 21-30 นั้นใช้เวลากับการเล่นเกมมากขึ้น และมีชั่วโมงการทำงานที่น้อยลง คนในกลุ่มนี้เริ่มไม่ได้ให้ความสำคัญกับการทำงานเพื่อเลื่อนขั้นหรือตำแหน่งในบริษัท รวมถึงชายหนุ่มที่ยังตกงานก็มีแนวโน้มจะใช้เวลาไปกับการเล่นเกมมากขึ้นเช่นกัน
ผลวิจัยที่จัดทำขึ้นโดยทีมงานจาก Princeton ร่วมกับ University of Chicago ระบุว่า หนุ่มวัยทำงานระหว่างอายุ 21-30 ปีในสหรัฐอเมริกานั้นใช้เวลาเล่นเกมเฉลี่ยสูงขึ้นมาอยู่ที่ 3.4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มากกว่าค่าเฉลี่ย 2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในช่วงปี 2004-2007 ขณะเดียวกันชั่วโมงการทำงานของคนวัยนี้ก็ลดลงถึง 12% เมื่อเทียบกับผลสำรวจในปี 2000
ศาสตราจารย์ Erik Hurst ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ของ University of Chicago ออกมาแสดงมุมมองของผลวิจัยดังกล่าวว่า เป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในพฤติกรรมของผู้ชายที่จะให้เวลาไปกับการเล่นเกมมากกว่ากิจกรรมอื่น ๆ ทั้งหมด โดยเฉพาะการพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเกมที่ก้าวหน้าไปมาก โดยเฉพาะเกมบนโซเชียลที่สามารถเข้าถึงผู้คนได้มากที่สุด
ถ้าย้อนไปในยุค 80 ถ้าคุณไม่ได้ทำงาน คุณก็จะเหงามาก แต่ตอนนี้คนที่ไม่ได้ไปทำงาน เขาก็สามารถคุยกันบนออนไลน์ได้ ทั้งคนรู้จักและคนแปลกหน้า
อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์ Hurst เองก็เปิดเผยว่าตัวเลขชั่วโมงทำงานที่ลดลงของกลุ่มดังกล่าวในสหรัฐอเมริกานั้น เมื่อระบุเฉพาะเจาะจงลงไปจะพบว่าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มแรงงานไร้ฝีมือ ซึ่งประสบปัญหามาจากภาวะแรงงานล้นตลาด ที่โรงงานอุตสาหกรรมในแถบมิดเวสต์ของอเมริกานั้นมีความต้องการแรงงานประเภทนี้ลดน้อยลงนั่นเอง