สำหรับ Facebook นั้นถือเป็นสื่อสังคมออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่มีผู้ล็อกอินเข้าใช้งานเกิน 2 พันล้านรายต่อเดือนไปแล้ว ซึ่งตัวเลขดังกล่าวมากกว่าจำนวนประชากรของ จีน, สหรัฐอเมริกา, เม็กซิโกและญี่ปุ่นรวมกันเสียอีก เป้าหมายที่ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ต้องการสร้างชุมชนออนไลน์ทั่วโลกผ่านแพลตฟอร์ม Facebook นั้น เกิดขึ้นมาจริง ๆ แล้ว แต่ถึงอย่างนั้น เรื่องราวต่าง ๆ ที่ผู้คนได้แชร์กันอยู่บนแพลตฟอร์ม ก็มีทั้งเรื่องราวที่สวยงามน่าประทับใจรวมทั้งเป็นจุดเริ่มต้นของดรามาและความเกลียดชังมากมายเช่นกัน ซึ่งมีคำถามน่าสนใจว่าเพราะเหตุใดผู้คนถึงเสพติด Facebook กันมากมายขนาดนี้

ผลวิจัยชิ้นล่าสุดจาก Open University’s Applied Linguistics and Literacies (ALL) ได้ทำการลงพื้นที่สัมภาษณ์ผู้ใช้งาน Facebook มากกว่า 100 ราย โดยเน้นยิงคำถามในเรื่องของเหตุผลที่ยังใช้ Facebook รวมถึงการรักษาความสัมพันธ์กับเพื่อน ๆ ที่เคยโพสต์เรื่องราวยั่วยุปลุกปั่นน่ารำคาญใจให้อยู่บ่อย ๆ ซึ่งน่าสนใจว่าไม่มีใครที่หยิบยกประเด็นนี้มาเป็นเหตุผลให้เล่น Facebook น้อยลงเลยแม้แต่คนเดียว โดยพวกเขาเลือกที่จะสังเกตการณ์เพื่อนเหล่านั้นอย่างเงียบ ๆ เพื่อไม่ให้มีการขัดแย้งกันในชีวิตจริง ขณะเดียวกัน ทีมวิจัย ALL ก็วิเคราะห์ว่าการกระทำดังกล่าว ในอีกมุมหนึ่งคือการได้มีความสุขกับการได้เห็นโพสต์และได้ตัดสินวิพากษ์วิจารณ์บุคคลนั้น ๆ เช่นกัน ไม่ต่างอะไรกับการที่คนเรามักวิพากษ์วิจารณ์รายการทีวีที่ไม่ชอบแต่กลับยังติดตามดูอยู่ทุกสัปดาห์นั่นเอง

นอกจากนี้ ผลวิจัยระบุว่า หนึ่งในสิ่งที่สร้างความกวนใจให้กับผู้ใช้ Facebook มากที่สุด คือการได้เห็นโพสต์ในเชิงลบที่เพื่อน ๆ ได้โพสต์เกี่ยวกับความคิดเห็นทางการเมืองแบบแรง ๆ, การเหยียดผิว, เหยียดเพศ หรือพวกที่ชอบโพสต์เช็คเรตติ้งเรียกร้องความสนใจให้ตัวเองทุกวัน และเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้มีการตัดสินใจ Unfriend

ถึงแม้ว่า Facebook จะเป็นเหมือนศูนย์รวมของผู้คนทั่วโลกสามารถเข้ามาพูดคุยกันได้ตามเจตนารมย์ของซัคเคอร์เบิร์ก แต่ความแตกต่างของผู้คนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อ การเติบโตในสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน มารวมกันอยู่ในพื้นที่เดียวอย่างนี้ คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชุมชนอุดมคติออนไลน์แห่งนี้เกิดความขัดแย้ง ประเด็นดรามาต่าง ๆ ได้มากที่สุด

อ้างอิง