ปัจจุบันเฟซบุ๊กเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดในโลก ซึ่งในแต่ละวันที่เราไถหน้าฟีดนั้นก็จะเห็นพฤติกรรมการใช้เฟซบุ๊กของเพื่อนที่แตกต่างกันออกไป คราวนี้มีงานวิจัยมาจาก School of Communication at Brigham Young University ที่ได้สำรวจกลุ่มผู้ใช้เฟซบุ๊กเป็นหนุ่มสาวชาวอเมริกันกลุ่มเล็ก ๆ 47 ราย ช่วงอายุระหว่าง 18-32 ปี กับหัวข้อที่เกี่ยวกับความคิดเห็นและความรู้สึกในการใช้งานเฟซบุ๊ก ซึ่งพบว่าสามารถแยกกลุ่มผู้ใช้งานออกมาจริง ๆ เหลือ 4 ประเภท ไปดูกันเลยว่ามีอะไรบ้าง และตัวเราอยู่กลุ่มไหน

สายคอนเนคชัน

คนกลุ่มนี้จะใช้เฟซบุ๊กเป็นเครื่องมือในการสื่อสารและรักษา ต่อยอดความสัมพันธ์ของเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ในชีวิตจริงเลย ประมาณว่า ใช้เฟซบุ๊กเป็นที่แสดงออกถึงความรู้สึกซึ่งกันและกัน โดยคนกลุ่มนี้มองเฟซบุ๊กเหมือนเป็นเว็บบล็อกที่บันทึกเรื่องราวส่วนตัวเอาไว้ รวมทั้งใช้เป็นช่องทางติดต่อสื่อสารทุกอย่าง รวมทั้งยังสามารถส่งความรู้สึกที่มีต่อคู่สนทนาได้ง่ายกว่าเมื่อเทียบกับการอยู่ต่อหน้า เช่น การส่งสติ๊กเกอร์หัวใจ ให้กับญาติพี่น้องหรือเพื่อนฝูงที่ทำได้น้อย (สำหรับผู้ใช้บางส่วน) ในชีวิตจริงเมื่อเจอหน้ากัน ตัวอย่างเช่น การแชร์โพสต์ครบรอบการเป็นเพื่อนกันบนเฟซบุ๊คแล้วใส่แคปชันหรือสติ๊กเกอร์หวาน ๆ มุ๊งมิ๊งกันเป็นพิธี เป็นต้น

สายส่อง

คนกลุ่มนี้จะมองเฟซบุ๊กเป็นสิ่งที่จำเป็นในชีวิตประจำวันยุคนี้ แต่พวกเขาจะไม่ค่อยโพสต์สเตตัสเกี่ยวกับตัวเองมากนัก เรียกว่าอัปเดทน้อยมากจนเกือบ ๆ จะเป็นเฟซร้าง คนกลุ่มนี้แค่เห็นเขามากด Like หรือ Comment บนโพสต์อะไรสักอย่างก็แทบจะเป็นหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ของโลกแล้ว

ซึ่งกลุ่มสายส่องนี้ก็จะใช้เฟซบุ๊กในการไปมองดูเรื่องราวหรือโปร์ไฟล์คนที่ตัวเองชื่นชอบเพื่อติดตามว่าคน ๆ นั้นคิดอย่างไรและมีรสนิยมชอบไม่ชอบอะไร โดยสิ่งที่เราจะได้ยินจากคนกลุ่มนี้เมื่อพูดถึงเฟซบุ๊กก็คือ “เปิดเฟซบุ๊กไว้เพื่อให้ยังเป็นช่องทางที่ติดต่อกับเพื่อนได้อยู่”

โดยมีตัวแทนของกลุ่มนี้ระบุว่า ‘ผมชอบใช้ชีวิตส่วนใหญ่นอกเฟซบุ๊กมากกว่า เฟซบุ๊กไม่ใช่ที่ที่เหมาะกับการไปโพสต์ว่าตัวเราทำอะไรตอนสุดสัปดาห์ หรือว่าชีวิตประจำวันทำอะไรบ้าง ผมว่าหากใครที่อยากรู้จักผมจริง ๆ เดี๋ยวเขาก็ติดต่อมาหาและหาทางชวนไปทำกิจกรรมโน่นนี่แบบเจอหน้าเลยมากกว่า’

สายแชร์แหลก

กลุ่มนี้จะมีความเป็นนักข่าว, นักกิจกรรม หรือนิสัยของออแกไนซ์อยู่หน่อย ๆ คนกลุ่มนี้จะชอบแชร์โพสต์เรื่องราวต่าง ๆ บนหน้าฟีด แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะรู้รายละเอียดของ content ที่แชร์ออกไป หรือคอยตามประเด็นนั้นชนิดพร้อมออนไลน์อยู่ตลอดเวลา ในทางกลับกัน บางครั้งคนกลุ่มนี้ก็ไม่แคร์ด้วยซ้ำว่าสิ่งที่โพสต์ที่แชร์ลงไปนั้นจะมีคนกด Like หรือไม่ เช่นคนชอบแชร์คลิปตลก ๆ, ข่าวบทความฮอตในเวลานั้น ๆ หรือแท็กเพื่อนชวนไปที่นั่นที่นี่ เรียกว่าหากคนกลุ่มนี้รู้เรื่องอะไร โลกก็จะรู้ไปด้วยแน่นอน ยกเว้นเรื่องของตัวเอง

อย่างไรก็ตาม คนกลุ่มนี้กลับไม่ค่อยยอมเปิดเผยเรื่องราวส่วนตัวสักเท่าไหร่ และมีแนวโน้มที่จะยอมโพสต์เรื่องราวของตนเองเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยมีตัวแทนของกลุ่มสำรวจดังกล่าวให้เหตุผลว่า ‘ฉันไม่คุยกับคนใกล้ตัวมาก ๆ อย่างเช่นครอบครัวตัวเองผ่านเฟซบุ๊ก เพราะพวกเขาสำคัญกับชีวิตฉันมากกว่านั้น’ ซึ่งจากผลวิจัยก็พบว่าคนสายแชร์ส่วนใหญ่มักจะเลือกโทรศัพท์หา, ส่งของความแชทโดยตรงไปหาคนที่อยากสนทนาด้วยมากกว่า เมื่อจะพูดคุยเรื่องส่วนตัวกัน

สายเหงา

กลุ่มนักเซลฟีนี้ถือได้ว่ามีมากที่สุดกลุ่มหนึ่งเลย โดยกลุ่มนี้มักจะอัปสเตตัส, รูปหรือคลิปเป็นประจำเพื่อเรียกความสนใจอยู่แล้ว ซึ่งนักวิจัยระบุว่าคนเล่นเฟซบุ๊กกลุ่มนี้จะอิงความรู้สึกอยู่กับยอด Like เป็นหลัก พูดง่าย ๆ ว่ายิ่งมีคนกด Like เยอะเท่าไหร่ตนเองก็ยิ่งรู้สึกได้รับการยอมรับมากขึ้นไปด้วยนั่นเอง ซึ่งกลุ่มทดสอบที่อยู่ในสายเซลฟีก็ระบุว่า ‘ถ้าแค่ถ่ายรูปแล้วเก็บไว้ในเครื่องเฉย ๆ มันก็เท่านั้น แต่ถ้าเอาไปโพสต์ลงเฟซบุ๊ก อย่างน้อยมันก็ยังได้แสดงออกไปว่าฉันทำอะไร’ 

อ้างอิง