ร่างกายมนุษย์จะฟื้นฟูตัวเองอย่างเต็มที่เมื่อได้พักผ่อนแบบเต็มอิ่มตลอดคืน แล้วสมาร์ทโฟนเป็นเช่นเดียวกันหรือไม่? สำหรับสมาร์ทโฟนทั่วไปจะใช้เวลาในการชาร์จแบตฯจนเต็มประมาณ 1-2 ชม. ในช่วงกลางคืนเมื่อเราชาร์จสมาร์ทโฟนค้างไว้ ซอฟต์แวร์จะหยุดการชาร์จเมื่อแบตเตอรีเต็ม 100% ซึ่งเป็นการป้องกันการเกิดความเสียหายจากการ overcharging (หรือการชาร์จมากเกินไป) แต่มันไม่ได้ป้องกันความร้อนที่เกิดจากแบตเตอรี
ถ้าคุณทิ้งมือถือไว้ใต้ผ้าห่มหรือหมอนในขณะชาร์จ จะทำให้แบตเตอรีมีประสิทธิภาพลดลง และเป็นสาเหตุของการเกิดอาการที่เราเรียกว่า “แบตฯเสื่อม” หรือ “แบตฯไหลเป็นน้ำ” ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเวลาชาร์จแบตเตอรีของคุณมีอุณหภูมิสูงถึง 40 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 1 ปี แบตเตอรีจะชาร์จได้แค่ 65% ของความจุ (capacity) ทั้งหมดที่แบตเตอรีมี (เช่น แบตเตอรีความจุ 3,000 mAh จะมีความจุสูงสุดเหลือแค่ 65% เพราะฉะนั้นเมื่อหน้าจอขึ้นว่า ชาร์จเต็ม 100% จะมีความจุจริงๆ อยู่ที่ 1,950 mAh เท่านั้น) และหากชาร์จเมื่อแบตเตอรีมีอุณหภูมิสูงถึง 65 องศาเซลเซียสเป็นระยะเวลาแค่ 3 เดือน ความจุสูงสุดของแบตเตอรีจะลดลงเหลือแค่ 60% เท่านั้น (เช่น จาก 3,000 mAh จะชาร์จเต็มได้แค่ 1,800 mAh)
ตารางข้อมูลแสดงให้เห็นว่าการชาร์จให้สมาร์ทโฟนมีแบตฯอยู่ระหว่าง 40% ถึง 80% จะทำให้แบตเตอรีมีอายุการใช้งานยาวนานที่สุด เพราะฉะนั้นการชาร์จระหว่างวันจึงเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าการใช้งานจนแบตฯลดน้อยกว่า 10% แล้วเสียบชาร์จไว้ข้ามคืน แต่หากไม่มีทางเลือกจริงๆ ก็ควรเช็คให้มั่นใจว่า ไม่มีอะไรมาทับหรือกั้นตัวเครื่อง เพราะจะถ่ายเทความร้อนได้ไม่ดี ทำให้แบตฯเสื่อมเร็วขึ้นครับ