ผ่านพ้นมาถึงหนึ่งเดือน กับการประกาศการประมูลคลื่นความถี่ 900MHz และ 1800MHz ครั้งใหม่ ที่ประกาศไปเมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา หลังจากก่อนหน้านี้ ช่วงเดือนมิถุนายน มีการประกาศไปแล้วครั้งหนึ่ง แต่ค่ายมือถือทั้งสามค่ายต่างไม่ตอบรับการประมูลครั้งดังกล่าว และต้องยกเลิกไป
ครั้งใหม่นี้มีกำหนดที่จะจัดการประมูลในช่วงวันเสาร์ที่ 18 สิงหาคม ต่อเนื่องถึงวันอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคม โดยมีการแบ่งคลื่นความถี่ที่จะนำมาประมูลดังนี้
- คลื่นความถี่ 1800MHz จำนวน 45MHz แบ่งเป็นใบอนุญาต 9 ใบ ใบละ 5MHz
- คลื่นความถี่ 900MHz จำนวน 5MHz ใบอนุญาต 1 ใบ
ซึ่งต่างจากครั้งก่อนที่แบ่งออกเป็นใบอนุญาต 3 ใบ ใบละ 15MHz ส่วนคลื่นความถี่ 900MHz ทางกสทช. นำมาประมูลเพิ่ม แต่ต่างตรงที่ราคาเริ่มต้นประมูลนั้นไม่ได้สูงถึงระดับ 37,457 ล้านบาท แต่ว่ามีค่าติดตั้งวงจรกรองสัญญาณ (ระบบกันคลื่นรบกวน) มาเกี่ยวข้องด้วย
จนถึงตอนนี้ มีความเคลื่อนไหวจากทั้งสามค่ายที่ต่างออกมาประกาศและแสดงเจตจำนวในการเข้าร่วมการประมูลครั้งนี้แล้ว
ทรูมูฟนำร่อง “ไม่เข้าร่วม” ทั้งสองใบอนุญาต
ทรูมูฟได้ออกหนังสือแจ้งไปยังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ประกาศไม่เข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ทั้ง 900MHz และ 1800MHz โดยในเนื้อหาของหนังสือนั้น มิได้ระบุเหตุผลอย่างชัดเจนว่าที่ไม่เข้าร่วมนั้น เป็นเพราะเหตุผลใด แต่ให้เหตุผลไว้ว่าบริษัทฯ ได้พิจารณาอย่างรอบคอบและคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของลูกค้าและนักลงทุน ไม่ทำให้บริษัทฯ เสียโอกาสแต่อย่างใด รวมคลื่นความถี่ที่มี ยังมากเพียงพอที่จะรองรับจำนวนลูกค้าที่จะเติบโตเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวในอนาคต และยังคงสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในตลาด รวมทั้งสามารถรักษาประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับลูกค้าได้ต่อเนื่องแน่นอน
ดีแทคขอร่วมประมูลคลื่น 1800MHz เมิน 900MHz
หลังจากที่ทรูมูฟประกาศไม่เข้าร่วมประมูลในครั้งนี้ หลายฝ่ายต่างลุ้นกันว่า อีกสองค่ายที่เหลือนั้นจะเดินตามทางของทรูมูฟ หรือจะลงลุยประมูล ต่อสู้กันเอง ซึ่งเป็นทางดีแทคที่เป็นรายแรก ส่งตัวแทนเข้ารับเอกสาร และยื่นเอกสารประกอบการขอเข้าร่วมการประมูลที่สำนักงานกสทช. ดีแทคได้ยื่นเอกสารขอเข้าร่วมการประมูลในคลื่นความถี่ 1800MHz แต่คลื่นความถี่ 900MHz นั้น ไม่ได้ขอยื่นแต่อย่างใด
ดีแทคได้ชี้แจงและอธิบายเพิ่มเติมว่า ในการเข้าร่วมปละมูลคลื่นความถี่ 1800MHz นั้น ได้พิจารณาหลังจากที่ทางกสทช. ทำการปรับเกณฑ์การประมูลใหม่ จากเดิมที่แบ่งออกเป็น 3 ใบอนุญาต ใบละ 15MHz เป็น 9 ใบอนุญาต ใบละ 5MHz เพื่อให้ยืดหยุ่นกับผู้ที่เข้าร่วมการประมูล และช่วยเสริมการแข่งขันในครั้งนี้ พร้อมกันนี้ ยังเตรียมพร้อมที่จะทำให้การบริการต่อลูกค้านั้นต่อเนื่อง และเตรียมแผนเยียวยาลูกค้า ในกรณีที่หมดสัญญาสัมปทานแล้ว รวมถึงนำคลื่นความถี่ดังกล่าวมาเสริมประสิทธิภาพในการให้บริการบนโครงข่าย 4G ต่อไป
เอไอเอสขอร่วมเคาะคลื่น 1800MHz เมิน 900MHz เช่นกัน
ปิดท้ายที่ค่ายเอไอเอส ที่ส่งตัวแทนมารับเอกสารเป็นค่ายที่สอง และเป็นค่ายสุดท้ายของเมื่อวานนี้ โดยเข้ารับเอกสาร และยื่นเอกสารประกอบการเข้าร่วมการประมูล ซึ่งเอไอเอสขอเข้าร่วมการประมูลในคลื่นความถี่ 1800MHz เพียงคลื่นเดียว ส่วนคลื่นความถี่ 900MHz นั้น ไม่ได้เข้าร่วม เช่นเดียวกับดีแทคที่มารับเอกสารก่อนหน้านี้
เอไอเอสไม่ได้ระบุเหตุผลในการไม่ขอเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ 900MHz แต่ได้ให้เหตุผลอื่นแทนว่า ในการเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 1800MHz ครั้งนี้นั้น เอไอเอสมองเห็นถึงอัตราการเติบโตของตลาดโทรคมนาคม ทางเอไอเอสจะได้นำคลื่นไปใช้ในการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ๆ เพื่อให้บริการแก่ลูกค้า และสอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0
ถอดเหตุผล “ทำไมไม่เข้าร่วมประมูลคลื่น 900MHz”
ถึงแม้ว่าเอไอเอสไม่ได้เปิดเผยเหตุผลในการไม่ขอเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ 900MHz แต่ทางดีแทคได้ออกมาอธิบาย และชี้แจงในเหตุผลดังกล่าวเมื่อก่อนหน้านี้ไปแล้ว
การประมูลคลื่นความถี่ 900MHz นั้น ได้กำหนดไว้ว่า ผู้ที่ชนะการประมูล จะต้องดำเนินการติดตั้งวงจรกรองสัญญาณ หรือระบบกันคลื่นรบกวนด้วย ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ที่ชนะการประมูล มีต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการติดตั้งระบบเพิ่มขึ้นด้วย และสืบเนื่องจากประกาศของทางกสทช. ที่ออกมาประกาศถึงหลักเกณฑ์ในการเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 900MHz นั้น ในช่วงหนึ่งของประกาศฉบับดังกล่าว ได้มีการระบุไวว่า
ถึงแม้ว่าคลื่นความถี่ 900MHz ที่นำมาประมูลนั้นมีแค่เพียง 5MHz แต่เมื่อเทียบกับเงินเริ่มต้นการประมูลในครั้งนี้ ที่สูงถึงระดับ 35,000 กว่าล้านบาท และต้นทุนต่างๆ ที่ผู้ที่ชนะการประมูลต้องดำเนินการเอง บวกกับข้อกำหนดที่ทางกสทช. ประกาศออกมาด้วยนั้น น่าจะเป็นเหตุผลหลักๆ ที่ทั้งสามค่ายต่างพร้อมใจกันไม่ขอเข้าร่วมการประมูลในคลื่นความถี่ดังกล่าว ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมถึงจำนวนคลื่นความถี่ที่แต่ละค่ายต่างถือครอบครอง และความสนใจในคลื่นความถี่บางช่วง แน่นอนว่าเมื่อไม่มีค่ายใดที่สนใจเข้าร่วมประมูล ทางกสทช. ก็ยังมีอำนาจในการนำคลื่นความถี่ดังกล่าวออกมาประมูลใหม่อีกครั้งได้ ส่วนจะเป็นเมื่อไหร่นั้น ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของบอร์ดบริหารต่อไปในอนาคต
อีกหนึ่งสาเหตุที่ไม่มีค่ายใดสนใจนั้น กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ได้ออกความเห็นว่า คลื่นความถี่ในย่านดังกล่าวเป็นคลื่นที่พร้อมจะจัดสรรในการใช้งานกับระบบรถไฟ ซึ่งทางกสทช. ได้จัดสรรตามคำขอของกระทรวงคมนาคม และอยู่บนพื้นฐานที่ว่า ถ้าจะวิ่งรถไฟความเร็วสูง ต้องใช้คลื่นความถี่ 900MHz เท่านั้น หากไม่จัดสรรตามคำขอ โครงการต้องถูกระงับ
หลังจากนี้ ในส่วนของการประมูลคลื่นความถี่ 1800MHz ซึ่งมีแค่เพียงสองค่ายที่เข้าร่วมการประมูลนั้น ทางสำนักงานกสทช. จะประกาศรายชื่อของผู้ที่เข้าร่วมประมูล ในวันที่ 15 สิงหาคม และจะนัดหมายให้ผู้ที่เข้าร่วมประมูล ผู้ที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชน เข้าชมระบบจำลองการประมูล (Mock Auction) ในวันที่ 16 และ 17 สิงหาคม และเริ่มประมูลในวันที่ 19 สิงหาคม ซึ่งผลการประมูลจะออกมาในรูปแบบได ค่ายไหนได้ใบอนุญาตกันกี่ใบ และจะลากยาวเมื่อครั้งประมูลเมื่อปี 2558 หรือไม่นั้น ทางแบไต๋ไฮเทคจะรายงานให้ทุกท่านได้ทราบกันต่อไป
ที่มา: Post Today, adslthailand, ไทยโพสต์, การเงินธนาคาร