ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา Google ได้ประกาศจะปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจใหม่สำหรับผู้ผลิตอุปกรณ์ระบบ Android ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจยุโรป (European Economic Area : EEA) หลังจากที่ถูกคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) สั่งปรับมูลค่าสูงถึง 4.34 พันล้านยูโร หรือราว 5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1.63 แสนล้านบาท)
ทางคณะกรรมาธิการยุโรปได้มองว่ามองว่าการที่ Google ให้สมาร์ทโฟนระบบ Android ติดตั้ง Google Search เป็นเครื่องมือค้นหาและ Google Chrome เว็บเบราว์เซอร์พื้นฐานของระบบนั้น เป็นการผูกขาดทางการค้า
นั่นทำให้ Google ออกมาอธิบายว่า จะเริ่มเรียกเก็บค่าบริการสำหรับผู้ผลิตอุปกรณ์ระบบ Android ในการใช้ชุดแอปพื้นฐานของ Google รวมถึง Google Play Store ด้วย เพื่อชดเชยรายได้ของ Google ที่ต้องเสียไป (Google มีรายได้จากการใช้บริการผ่านแอปพื้นฐานเหล่านี้) แต่ยังมิได้เปิดเผยอัตราค่าบริการแต่อย่างใด
ล่าสุด The Verge ได้รายงานข้อมูลจากเอกสารที่หลุดออกมาว่า Google จะเรียกเก็บค่าบริการตามหลักเกณฑ์ 3 ประการ ดังต่อไปนี้
- ประเทศที่ขายอุปกรณ์นั้น ๆ
- อุปกรณ์นั้น ๆ เป็นสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต
- ความหนาแน่นของพิกเซลบนหน้าจออุปกรณ์นั้น ๆ
ต้องจ่ายเท่าไร ?
Google จะเรียกเก็บค่าใช้แอปพื้นฐานของ Google สำหรับอุปกรณ์ระบบ Android ที่ขายในสหราชอาณาจักร, สวีเดน, เยอรมนี, นอร์เวย์ และเนเธอร์แลนด์ ดังนี้
- ความหนาแน่นของพิกเซลหน้าจอที่ 500 ppi หรือมากกว่านั้น : 40 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1,300 บาท) ต่อเครื่อง
- ความหนาแน่นของพิกเซลหน้าจออย่างน้อย 400 ppi แต่ถึง 500 ppi : 20 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 650 บาท) ต่อเครื่อง
- ความหนาแน่นของพิกเซลหน้าจอน้อยกว่า 400 ppi : 10 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 325 บาท) ต่อเครื่อง
ยกตัวอย่างเช่น Samsung Galaxy Note 9 ซึ่งมีความหนาแน่นของพิกเซลหน้าจออยู่ที่ 516 ppi จะถือว่าเป็นอุปกรณ์ระดับพรีเมียม ซึ่งจะถูกเรียกเก็บค่าบริการ 40 เหรียญสหรัฐฯ ส่วน Nokia 7.1 ที่มีควมหนาแน่นของพิกเซลหน้าจออยู่ที่ 432 ppi จะถือว่าเป็นอุปกรณ์ระดับกลาง ซึ่งจะถูกเรียกเก็บค่าบริการ 20 เหรียญสหรัฐฯ
ส่วนแท็บเล็ตนั้นใช้เกณฑ์ที่ต่างออกไป โดยเรียกเก็บค่าบริการสูงสุดที่ 20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อเครื่อง
ค่าบริการสำหรับแอปอะไรบ้าง ?
ค่าบริการดังกล่าว เป็นการเข้าใช้บริการ Google Mobile Service (GMS) ซึ่งประกอบไปด้วยชุดแอปพื้นฐานของ Google ที่ปรากฏให้เห็นในสมาร์ทโฟนระบบ Android ส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น Gmail, Google Maps, Google Drive, Google Photos และรวมถึง Google Play Store ด้วย แต่ยังไม่รวม Google Chrome และ Google Search
นั่นหมายความว่า ถ้าไม่มีแอปเหล่านี้ (ที่สำคัญคือ Google Play Store) ผู้ใช้ก็จะต้องหาวิธีติดตั้งแอปแบบ Third Party ในอุปกรณ์ของตนเอง หรือใช้วิธีการดาวน์โหลดแบบผิดกฏหมาย และดำเนินการติดตั้งโดยไม่ได้รับอนุญาต
ถ้าผู้ผลิตไม่ยอมจ่ายล่ะ ?
ในปัจจุบัน ผู้ผลิตอุปกรณ์มีรายได้บางส่วนมาจากการที่ผู้ใช้อุปกรณ์ระบบ Android ใช้ Google Chrome หรือ Google Search โดยในโมเดลธุรกิจใหม่นี้ หากผู้ผลิตสามาถเลือกที่จะไม่ติดตั้งแอปดังกล่าวก็จะไม่ถูกตัดรายได้ในส่วนนั้นออกไป ซึ่งเป็นโน้มน้าวให้ผู้ผลิตยังคงติดตั้งชุดบริการ Google Mobile Service, Google Chrome และ Google Search ในอุปกรณ์ระบบ Android ทุกเครื่องได้
จริงอยู่ที่ผู้ผลิตสามารถเลือกที่จะแชร์รายได้จากเสิร์ชเอนจิน Third Party อื่น ๆ ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่คณะกรรมาธิการยุโรปต้องการ แต่ก็เป็นการยากที่จะขายสมาร์ทโฟนระบบ Android ที่ไม่มีแอปพื้นฐานของ Google หรือแม้กระทั่งเข้าใช้ Google Play Store ไม่ได้เลย
จะทำให้ราคาสมาร์ทโฟน “แพงขึ้น” หรือไม่ ?
เนื่องจากการที่ผู้ผลิตต้องจ่ายค่าบริการเพิ่มขึ้น 40 เหรียญสหรัฐฯ ก็มีความเป็นไปได้ที่ราคาของสมาร์ทโฟนที่จะวางจำหน่ายในยุโรปนั้น จะสูงขึ้นตามไปด้วย
แต่อย่างไรก็ดี นโยบายใหม่นี้จะเริ่มใช้ในช่วงต้นปี 2019 จึงยังไม่ชัดเจนว่าสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตที่จะวางจำหน่ายในปี 2019 นี้ จะมีราคาเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงไร
ข้อมูลอ้างอิง : androidauthority