หนึ่งในความสามารถของ Huawei P30 Pro ที่เป็นที่พูดถึงกันทั้งโลกคือการซูมสูงสุด 50 เท่า (แบบดิจิตอล) ซึ่งเหนือกว่ามือถือทั่วไปมาก จนสามารถซูมถ่ายดวงจันทร์ได้อย่างชัดเจน แถม AI ของ P30 Pro ก็สามารถตรวจสอบได้ว่ากำลังถ่ายภาพดวงจันทร์ และเปิดใช้ Moon Mode เพื่อถ่ายภาพดวงจันทร์โดยเฉพาะได้ แต่วันนี้ผู้ใช้ทั้งในไทยและจีนกลุ่มหนึ่งตั้งข้อสงสัยว่าภาพดวงจันทร์ที่ได้จาก Moon Mode เจ้าปัญญาประดิษฐ์มีการตกแต่งจนจริงเกินไปรึเปล่า

ผู้ใช้ในจีนได้ตั้งข้อสังเกตว่าดวงจันทร์ที่ Huawei P30 Pro ถ่ายได้นั้นอาจจะไม่ใช่ดวงจันทร์ที่กล้องเห็นซะทีเดียว แต่เป็นดวงจันทร์ที่ AI ของหัวเว่ยประดิษฐ์ขึ้นมาโดยอาศัยข้อมูลพื้นผิวดวงจันทร์จริงๆ สร้างภาพซ้อนลงไป ซึ่งผู้ใช้ชาวจีนคนนี้ได้สร้างภาพดวงจันทร์ขึ้นมาหลายแบบ

ซ้ายคือดวงจันทร์จริงๆ ขวาคือดวงจันทร์ที่ตกแต่ง เอามาใส่หัวใจเล็กๆ มีบางจุดในภาพที่แก้ไข

เสร็จแล้วเอาไปเบลอให้ P30 Pro ถ่าย

ผลงานที่ P30 Pro ถ่ายได้ ไม่ได้ชัดอย่างต้นฉบับ แต่ก็ดึงรายละเอียดดวงจันทร์จริงๆ กลับมาได้พอสมควร ไม่ใช่อย่างที่ภาพที่ตกแต่ง

ซึ่งผู้ใช้ชาวจีนคนนี้กล่าวว่า ก็ไม่ใช่ทุกครั้งที่ AI จะแก้ไขการตกแต่งของเขาได้ทั้งหมด มีบางภาพที่ไม่ได้แก้ไขเหมือนกัน ซึ่งก็สอดคล้องกับการทดสอบของผู้ใช้ชาวไทย ที่มีการเติมตัวอักษรลงไปในภาพดวงจันทร์แล้วเอา Huawei P30 Pro ถ่ายใน Moon Mode ซึ่งตัวอักษรในภาพก็มีการผสมเข้าไปในพื้นผิวดวงจันทร์ ตัวอักษรไม่ได้หายไปเลย แต่ก็กลายเป็นเงาคล้ายลวดลายบนดวงจันทร์ครับ

แถลงการณ์จาก Huawei

เว็บ Android Authority ได้ขอคำอธิบายเรื่องนี้จากหัวเว่ย ซึ่งก็มีแถลงการณ์กลับมาว่า

Moon Mode นั้นทำงานเหมือนโหมดอื่นๆ ของ Master AI ที่จะรับรู้ว่าวัตถุในภาพนั้นคืออะไรและปรับปรุงภาพถ่ายให้ดีขึ้น คนทั่วไปที่ไม่ใช่ช่างภาพจึงถ่ายภาพได้สวยขึ้น แต่เรายืนยันว่าไม่มีการซ้อนภาพจากฐานข้อมูลลงไปในภาพจริง เพราะมันเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะเก็บภาพจริงๆ สำหรับซ้อนในสถานการณ์กว่า 1,300 แบบ มันจะใช้พื้นที่มหาศาล

การทำงานของ AI จะใช้การเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine Learning) เพื่อรับรู้ว่ากำลังถ่ายซีนอะไร และช่วยปรับโฟกัส ปรับความสว่าง และปรับปรุงรายละเอียดเช่นรูปร่าง สีสัน ความสว่าง-ความมืด ให้ได้ภาพที่ดีที่สุด ซึ่งผู้ใช้สามารถเปิด-ปิด Master AI ได้ง่ายๆ แค่กดปุ่มเดียวในระหว่างการถ่ายรูป ซึ่งการถ่ายภาพดวงจันทร์ก็เช่นกัน Huawei P30 Pro ก็ยังถ่ายภาพได้เป็นอย่างดีแม้จะปิดโหมด AI ไป เพราะเลนส์ซูมแบบ Periscope ของเราแถลงการณ์จากหัวเว่ย

ซึ่งทาง Android Authority ก็พยายามทำอย่างที่ผู้ใช้ชาวจีนทดสอบ ก็ไม่ได้ผลลัพธ์อย่างอย่างที่โพสต์ จึงไม่สามารถยืนยันได้

ความเห็นของแบไต๋

เรื่องนี้เราอาจมองได้ 2 มุมคือ

  1. AI ทำให้ภาพถ่ายดวงจันทร์สวยขึ้นได้ ด้วยการตกแต่งภาพเพิ่มเติมจากข้อมูลที่มีอยู่ในตัว ซึ่งก็บรรลุวัตถุประสงค์ของ AI ที่ทำให้ภาพดีขึ้น ถ่ายง่ายขึ้นแล้ว เพราะธรรมชาติสร้างให้มนุษยชาติบนโลกนั้นมองเห็นดวงจันทร์ได้เพียงหน้าเดียว เราไม่เคยเห็นด้านหลังของดวงจันทร์หากไม่ได้มองจากยานอวกาศที่บินไปด้านหลังของดวงจันทร์ คุณจะถ่ายดวงจันทร์เมื่อไหร่ มันก็มีหน้าตาอย่างที่เราเคยเห็นมาไม่เปลี่ยนแปลง
  2. หัวเว่ยใช้ AI ทำให้ผู้ใช้เข้าใจผิดว่ากล้องสามารถซูมดวงจันทร์ได้ชัดขนาดนั้น และทำให้ผู้ใช้อาจเข้าใจผิดต่อว่าเราสามารถซูม 50 เท่ากับวัตถุอื่นๆ แล้วยังเห็นชัดเท่าดวงจันทร์

ซึ่งเราก็มองว่าการมาถึงของ AI และความซับซ้อนในการคิดของคอมพิวเตอร์ยุคใหม่ๆ อาจทำให้เราต้องกลับมามีมุมมองต่อโลกที่กว้างขึ้นกว่าเดิมครับ บางเรื่องกลายเป็นเรื่องเทาๆ ที่มีทั้งข้อดีและข้อเสียในตัวเอง แล้วแต่ว่าเราจะมองมุมไหนจริงๆ

อ้างอิง: Android Authority