ปฏิเสธไม่ได้เลยการเคลื่อนไหวครั้งล่าสุดเมื่อคืนวันอังคารที่ผ่านมาของยักษ์ใหญ่อย่าง Facebook ที่ประกาศเปิดตัวและก้าวเข้าสู่โลกการเงิน ‘อย่างเต็มตัว’ พร้อมจับมือร่วมกับพันมิตรชื่อดังอีกกว่า 27 องค์กรรอบนี้ได้สร้างความฮือฮาและเกิดเป็นกระแสไปทั่วโลก

ซึ่งหลายคนคงเคยได้ยินว่า “เหรียญนั้นมีสองด้านเสมอ” จะประสาอะไรกับเหรียญคริปโตฯ ล่ะท่าน เหรียญคริปโตฯ ถึงแม้เป็นเงินดิจิทัลก็ย่อมมีสองด้านเช่นกัน

เหรียญด้านสว่าง: ยกระดับแพลตฟอร์ม

เหรียญด้านแรกที่หลายคนมอง Facebook ก็คือเหรียญด้านบวก ที่ต่างแสดงความคิดในเชิงสนับสนุน เริ่มตั้งแต่มีข่าวว่า Mark Zuckerberg จะทำเงินของตัวเองในปี 2017 ด้วยซ้ำ ตลอดจนวิสัยทัศน์ ความกล้าหาญ และมองว่าการประกาศเปิดตัว Libra ในครั้งนี้เป็นความตั้งใจดีในการลุกขึ้นมาเสนอตัวสร้าง ‘สกุลเงินที่ใช้ร่วมกันทั่วโลก’ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาหลาย ๆ อย่างที่ระบบการเงิน แบบเก่า ทำไม่ได้ งั้นลองมาดูความเห็นเชิงบวกของบุคคลต่าง ๆ ในวงการนี้กันบ้างว่าแต่ละคนเขามีความเห็นอย่างไร

เริ่มต้นด้วย Caitlin Long  ผู้เชี่ยวชาญด้าน Bitcoin และ Blockchain ได้แสดงความเห็นที่น่าสนใจเชิงบวกในเรื่องนี้ว่า “การมาของ Libra จะเป็นตัวเร่งและดึงความสนใจของผู้คนจำนวนมากให้หันมาเรียนรู้และใช้ประโยชน์เพิ่มเติมเกี่ยวกับ ​Cryptocurrency ซึ่งเป็นผลดีต่อภาพรวมของตลาดที่กำลังเติบโตนี้” 

Play video

เช่นเดียวกับ Garrick Hileman หัวหน้าฝ่ายวิจัยของ Blockchain.com ที่ได้แสดงความคิดเห็นเชิงสนับสนุน 

“นับว่าเป็นจุดหมายสำคัญ เมื่อมีองค์กรขนาดใหญ่ที่มีผู้ใช้งานหลักพันล้านคน ประกาศว่ากำลังจะใช้บล็อกเชน และคริปโตเคอเรนซี ถือเป็นเรื่องดีที่สถาบันหรือองค์กรขนาดใหญ่หลายองค์กร ให้ความสนใจ และต้องการที่จะเข้าร่วมในการผลักดันเทคโนโลยีนี้ให้ก้าวไปข้างหน้า”

– Garrick Hileman

ขณะที่หน่วยงานวิจัยของเว็บเทรดชื่อดังอย่าง Binance Research ก็ให้ความเห็นว่า “Libra จะส่งผลทำให้ปริมาณการเทรดเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากผู้คนทั่วไป รวมถึงสถาบันต่าง ๆ สามารถเข้าถึงคริปโตได้ง่ายขึ้น”

อีกจุดสังเกตหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าผู้คนทั่วโลกต่างให้ความสนใจอย่างมากกับข่าวนี้ ก็คือ ปริมาณการเข้าชมเว็บไซต์ calibra.com ซึ่งเป็นเว็บ Digital Wallet ของเหรียญ Libra ถึงขั้นล่มไปชั่วขณะ เนื่องจากมีปริมาณผู้เข้าชมข้อมูลพร้อมกันมหาศาล

เหรียญด้านมืด: เบ็ดเสร็จเผด็จการ

เหรียญอีกด้านของ Libra ก็คือเสียงคัดค้านต่อต้านไม่เห็นด้วยจากอีกฝั่งที่อยู่ตรงข้ามในเรื่องนี้ ที่หลายฝ่ายพร้อมใจกันถาโถมโยนเข้าใส่ Facebook และ ​Mark Zuckerberg อย่างต่อเนื่อง

ยกตัวอย่างเช่น Ran NeuNer พิธีกรรายการ Crypto Trader จากช่อง CNBC ที่แสดงความเห็นว่า “โครงการนี้อาจเป็นภัยคุกคามที่น่ากลัวและเป็นอันตรายต่อโลก” และถึงกับเรียก CEO ของ Facebook ว่า “เป็นจอมเผด็จการ”

อีกความเห็นที่น่าสนใจมาจากผู้เชี่ยวชาญด้าน Bitcoin อย่าง Andreas Antonopoulos ผู้เขียนหนังสือ Mastering Bitcoin ที่ได้ตั้งข้อสงสัยว่า “Blockchain ของ Libra จะมีความ real แค่ไหนกัน?” 

Play video

ขณะที่ Nouriel Roubini นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังผู้สนใจในเทคโนโลยี Blockchain ออกมาแสดงความคิดเห็นที่ค่อนข้างตรงและรุนแรง 

“โปรเจกต์นี้ไม่ได้มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี Blockchain เลยแม้แต่น้อย เป็นเพียงการนำเอาชื่อเทคโนโลยี Blockchain ไปใช้ และเป็นแค่การขายฝันเท่านั้น”

                        – Nouriel Roubin

 

ความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และผู้มีชื่อเสียงต่างๆ ว่าแรงและหนักมากแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่น่าหนักใจกว่า คือ การตรวจสอบที่เข้มงวด ดุดัน จากภาครัฐ และหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลด้านการเงินการธนาคารจากทั่วโลกที่เริ่มตบเท้าทยอยกันออกมาตั้งคำถาม แสดงความเป็นห่วง หรือประกาศเตือนอย่างตรงไปตรงมา

อังกฤษ – ฝรั่งเศส – เยอรมนี

ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศอังกฤษ นาย Mark Carney ก็ได้เรียกร้องให้มีการตรวจสอบ พิจารณาและจับตากิจกรรมที่ Facebook จะดำเนินการต่อจากนี้อย่างใกล้ชิด รวมถึงส่งสัญญาณไปยังหน่วยงานด้านการเงินต่าง ๆ อย่าง G7, BIS, FSB และ IMF ให้ศึกษาโครงการนี้อย่างละเอียดรอบคอบ

ด้านนาย Bruno Le Maire รัฐมนตรีเศรษฐกิจของฝรั่งเศส และนาย Markus Ferber สมาชิกรัฐสภายุโรปจากเยอรมนี ก็ออกมาแสดงท่าที และความกังวลใจคล้ายกันในเรื่องนี้ โดยกล่าวเตือนว่า Libra จะยังไม่มีทางได้เป็นสกุลเงินของประเทศ ตราบใดที่ยังไม่ได้รับการอนุมัติ ตรวจสอบจากทางภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างรัดกุมเสียก่อน

ไทย

ดร.กิตติ โฆษะวิสุทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ บอกให้มองเรื่องนี้โดยแยกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นตัว cryptocurrency เอง ซึ่งถ้าถามถึงเรื่องของเทคโนโลยี blockchain โดยทั่วไปไม่ได้มีปัญหา แต่จะมีปัญหาที่ e-wallet โดยเราต้องดูว่า Facebook จะสร้าง ecosystem ทั้งหมดอย่างไร ส่วนที่ต้องมองอีกด้านก็คือ คนทำ ต้องดูว่าเรา trust เชื่อมั่นได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งเท่าที่ดู Facebook เขาก็พัฒนาหลาย ๆ อย่างมาตลอด

แต่ที่อยากให้โฟกัสจริง ๆ คือ เรื่อง business model ของ cryptocurrency เพราะการสร้างเงื่อนไขใน cryptocurrency แต่ละตัวไม่เหมือนกันที่เหลือคือ marketing ซึ่งต้องดูเงื่อนไขรายละเอียดบน white paper โดย Libra มี business model ที่ต่างจากการขุดเหมือง Bitcoin ตามสูตรของ Satoshi เราจึงต้องดูว่าใน business model ของ Facebook มีช่องโหว่หรือไม่ เพราะส่วนใหญ่การ hack จะ hack ที่ business logic หรือ hack ที่ e-wallet แต่ก็เห็นว่าทาง Facebook ก็พยายามสร้างตัวเองให้เป็น currency ที่มีการยอมรับพอสมควร

แต่อย่างหนึ่งที่สังเกตเห็นได้จากการประกาศของ Facebook ก็คือเรื่องของการเน้นหนักที่ privacy ซึ่งน่าจะเป็นที่มาของชื่อ Libra เพื่อสร้าง trust ความเชื่อมั่นนั่นเอง (ก่อนหน้านี้ก็ย้ำเรื่องของ privacy มาตลอด) ขณะเดียวกันที่ผ่านมาเราทุกคนก็คงเห็นเหมือนกันว่า Facebook โดนเล่นหนักมากเรื่อง privacy ทั้งจาก EU หรือ GDPR ดังนั้น Facebook จึงต้องพยายามอย่างหนักในการสร้างความเชื่อมั่นตรงนี้

Libra เป็นยกระดับตัวเองด้าน digital payment หรือเป็นการรวบตึงเบ็ดเสร็จกันแน่?

Facebook มองตัวเองเป็นแพลตฟอร์ม ยิ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ใหญ่ ยิ่งมีโอกาสในการต่อยอดมาก (เหมือนกับ Google และ Alibaba ที่มองตัวเองเป็นแพลตฟอร์มนั่นแหละ) ซึ่งการเป็นแพลตฟอร์มที่ใหญ่ของ Facebook มีจำนวนข้อมูลมหาศาล คือ ข้อได้เปรียบ จึงมองว่าเป็นเติมความสมบูรณ์ให้กับแพลตฟอร์ม ไม่ใช่แค่เล่นแต่กับข้อมูลเพียงอย่างเดียวเหมือนในปัจจุบัน และไม่คิดว่า Facebook ต้องการที่จะรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ

ดร.กิตติ โฆษะวิสุทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

นี่คือตัวอย่างความเห็นจากผู้รู้ทั่วโลกที่เรารวบรวมมา เพื่อให้พวกเราคนอยากรวยได้เห็นบรรยากาศที่แตกต่างอย่างสุดขั้วจากทั้งสองฝั่ง และเพื่อย้ำเตือนเราว่า “เหรียญนั้นมีสองด้านเสมอ” 

ความพยายามของ Mark Zuckerberg ที่จะ สร้างโลกใหม่ทางการเงิน ผ่าน สกุลเงินใหม่ที่ออกแบบมาสำหรับคนทั้งโลก ครั้งนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย ยังมีอีกอุปสรรคอีกหลายด่านให้ Libra จาก Facebook ก้าวผ่านและพิสูจน์ตัว

แหล่งข่าว: ภราดร ไชยวรศิลป์

เรียบเรียง สัมภาษณ์: ชล วจนานนท์