เพราะทุกวันนี้ มวลมนุษยชาตินั้น ไม่สามารถขาด 1 ในสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นมาเมื่อไม่กี่สิบปีก่อนได้อีกต่อไป สิ่งนั้นแม้จับต้องไม่ได้ แต่มันเปรียบเสมือน “เลือดเนื้อ” ที่คอยหล่อเลี้ยงให้โลกหมุนไปได้ เราเรียกมันว่า “อินเทอร์เน็ต”

จุดเริ่มต้นของ “อินเทอร์เน็ต”

อินเทอร์เน็ตเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1969 (พ.ศ. 2512) โดยเครือข่าย ARPANET (Advanced Research Projects Agency NETwork) ซึ่งเป็นเครือข่ายสำนักงานโครงการวิจัยชั้นสูงของกระทรวงกลาโหม ประเทศสหรัฐอเมริกา มีวัตถุประสงค์หลักคือ เพื่อให้คอมพิวเตอร์สามารถเชื่อมต่อ และมีปฏิสัมพันธ์กันได้ และได้มีเว็บไซต์แรกของโลกเกิดขึ้นมา โดยมีชื่อดังนี้

http://info.cern.ch/hypertext/WWW/TheProject.html

ซึ่งเข้าไปแล้วเราก็จะเห็นเพียงข้อความชุดหนึ่ง พร้อม Hyperlink สำหรับการเข้าถึงข้อมูลเพิ่มเติมเท่านั้น ส่วนด้านการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตครั้งแรกในประเทศไทย เกิดขึ้นในปี 1987 ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่นี้เอง และถ้าพูดถึงการพัฒนาทางด้านอินเทอร์เน็ตในยุคแรก แนวทางการพัฒนาเกาะติดผ่านระบบสาย จะเป็นไปได้มากกว่า ระบบไร้สายไปมาก โดยเริ่มตั้งแต่ยุค 1G เป็นยุคที่ยังไม่สามารถส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตก้าวข้ามผ่านอากาศไปถึงผู้ใช้ปลายทางได้

ยุค 1G

โดยมือถือยุค 1G ที่ถูกใช้งานครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 1984 ก็คือ Motorola DynaTAC 8000X ซึ่งถือว่าเป็นมือถือเครื่องแรกของโลก แต่การติดต่อสื่อสารในยุคนั้นทำได้แค่เพียงการโทรออกและรับสายเท่านั้น

ยุค 2G

และในยุค 2G เริ่มต้นในปี 1991 เราจะเริ่มเห็นอะไรที่มากกว่าการโทรออก – รับสาย นั่นคือระบบ SMS ที่สามารถส่งข้อความเบื้องต้น 160 ตัวอักษรให้กับโทรศัพท์มือถือในยุคนั้น ก้าวข้ามผ่านเพจเจอร์ที่ต้องโทรแจ้งโอเปอเรเตอร์ในการส่งข้อความ และเริ่มเห็นการพัฒนาของมือถือที่นอกจากใช้แค่รับสาย โทรออกแล้ว ยังมีขนาดที่ลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับยุค 1G ถ้าใครจำได้ Nokia 3310 นี่แหละคือมือถือที่ดังที่สุดในยุคนี้ “เกมเจ้างูน้อย” อ่ะ เคยเล่นไหม!

ยุค 3G

ยุคที่เป็นจุดเปลี่ยนประวัติศาสตร์การเชื่อมต่อไร้สายนั่นคือยุคของ 3G โดยถูกพัฒนาด้านการส่งผ่าน “Data” ขึ้นจากยุค 2G โดยใช้เวลากว่า 15 ปีในการพัฒนาขึ้นมา เชื่อมต่อบนคลื่นความถี่ตั้งแต่ 400 MHz – 3GHz ซึ่งสามารถส่งข้อมูลได้ในระดับ 384 Kbps – 2 Mbps ซึ่งถือว่าสูงมากในยุคนั้น มีระบบ GPS หรือการนำทางเป็นครั้งแรก และที่สำคัญ เป็นยุคที่ศาสดาของศาสนา Apple ได้เปิดตัวมือถือแบบ “ไร้แป้น” ที่โด่งดังที่สุดในโลก “iPhone” นั่นเอง (แต่ไม่ใช่เครื่องแรกของโลกนะ)

ยุค 4G – 4.5G

ยุคปัจจุบันหรือยุคของอินเตอร์เน็ต 4G เป็นยุคที่เรียกได้ว่าเฟื่องฟูในด้านการเชื่อมต่อเป็นอย่างมาก ถูกตั้ง Standard ขึ้นในปี 2008 ใช้งานบนคลื่นความถี่ตั้งแต่ 700 MHz – 2600 MHz สามารถรับ – ส่งข้อมูลในระดับ 300 Mbps ซึ่งได้ถูกพัฒนาต่อเนื่องจนกลายเป็น LTE Advanced หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ 4.5G ที่สามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตแบบไร้สายได้ที่ความเร็วสูงสุดที่ 1.2 Gbps สามารถทำงานได้อย่างลื่นไหล ไม่มีสะดุด หรือแม้แต่การรับชม video on demand ระดับ 4K ก็สามารถทำได้แบบสบาย ๆ

ยุค 5G

และล่าสุดเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ถ้าใครติดตามแบไต๋อย่างต่อเนื่อง เราก็ได้เปิดเผยข้อมูลของอินเทอร์เน็ตในยุค 5G ซึ่งได้จากงาน HUAWEI MBB Forum 2017 ว่า มันคืออนาคตอันใกล้ของ 5G ที่เรากำลังก้าวไปถึง มีความสามารถต่าง ๆ มากมายไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกระจายสัญญาณได้สูงถึง 300 เมตร หรือสูงประมาณตึกใบหยกเลยทีเดียว

Play video

นอกจากนี้ยังมีค่าความหน่วงของการเชื่อมต่อที่ลดลงมาจนต่ำกว่า 20 มิลลิวินาที สามารถรับ – ส่งข้อมูลได้ที่ระดับ 20 Gbps โดยจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการพร้อมใช้งานจริง “ครั้งแรก” ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิค TOKYO 2020 ที่ประเทศญี่ปุ่น และเริ่มมีการใช้งานจริงบ้างแล้วโดย BBC (แต่เหมือนกับจะยังไม่สมบูรณ์ 100% เท่าไรนัก ภาพงี้แตกเชียว)

Play video

ยุค 6G?

และข่าวล่าสุดจากผู้นำสหรัฐอเมริกา donald trump ที่ออกมาประกาศให้โลกรู้ว่า เรากำลังมี อินเทอร์เน็ต 6G เร็ว ๆ นี้ โดยประกาศบน Twitter ไว้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ว่า

ซึ่งฟังดูแล้วแปลกที่อินเทอร์เน็ต 6G จะเข้ามามีบทบาทในเร็ว ๆ นี้ เพราะจากที่ผ่านมา ยุคของอินเทอร์เน็ตจะอยู่ไปอย่างน้อยอีก 10 ปี ก่อนที่จะมีการเริ่มพัฒนาเครือข่าย 6G และนำมาใช้งานอย่างจริงจัง และเรื่องนี้เริ่มเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกมาหลังจากที่ทรัมป์ ได้ประกาศศึก Tech War กับ Huawei จึงมีความเป็นไปได้ว่า สหรัฐฯ อยากหาทาง “ฉะ” กลับ Huawei เพราะเทคโนโลยี 5G ณ วันนี้ Huawei ถือเป็นผู้นำทางด้านนี้อย่างแท้จริง

แต่อย่างไรก็ตาม ล่าสุด Samsung ก็เปิดตัวเป็นบริษัทแรกที่ประกาศการลงทุนทางด้าน R&D ของ 6G อย่างเป็นทางการ พร้อมเปิดตัว Research Center แห่งใหม่เพื่อการพัฒนาด้านนี้โดยเฉพาะ ซึ่งใช้ทฤษฎีด้านโครงข่ายดาวเทียมในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่สามารถส่งได้รวดเร็วและมากกว่า 5G ไปอีกขั้น โดยได้รับความร่วมมือระหว่าง SK Telecom Ericsson และ Nokia ในการพัฒนา โครงข่ายทั้ง 5G และ 6G รวมไปถึงผู้ให้บริการเครือข่ายในจีน China Mobile และ Tsinghua University ได้ประกาศร่วมมือกันทดสอบอินเทอร์เน็ตและระบบอินเทอร์เน็ตบนสมาร์ตโฟนแบบใหม่, AI รวมไปถึงเทคโนโลยี 6G ด้วย แต่ทุกอย่างยังคงอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาเท่านั้น

และยังมีข้อมูลที่น่าสนใจจากกลุ่มนักวิจัยของ Jacobs University Bremen ซึ่งได้ศึกษาเทคโนโลยีการสื่อสารในยุคต่อไปคือ ยุค 6G ซึ่งพบว่า จะเป็นการพัฒนาการสื่อสารเพื่อนำมาแก้ไขข้อบกพร่องของเทคโนโลยี 5G ในเรื่องทางกายภาพของคลื่น ทำให้มันสามารถทะลุทะลวงได้แบบไร้ขีดจำกัด พร้อมแก้ไขปัญหาทางด้านเทคโนโลยี AI เพราะเมื่อระบบ AI ทำงานไปได้สักพัก ก็จะเกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง หลังจากนั้นจะมีระบบการสั่งการด้วยการเรียงลำดับความเป็นไปได้ เพื่อใช้ในการตัดสินใจของข้อมูล ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องรับส่งข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตเป็นจำนวนมาก มากยิ่งกว่าที่มนุษย์ใช้งานอยู่ในยุคปัจจุบันอย่างเทียบกันไม่ได้

สรุป

พอมาฟังดูแล้ว อินเทอร์เน็ต 6G นั้นก็ยังดูเป็นเพียงคอนเซปต์ที่สำหรับโลกอนาคตที่กำลังถูกพัฒนาอยู่ เพราะขนาด Wikipedia ยังไม่มีคำอธิบายเรื่อง 6G เลย แต่จากกระแสต่าง ๆ ที่ทยอยเปิดตัวมาก็ไม่แน่ว่าเราอาจจะได้เห็นอินเทอร์เน็ต 6G ในเวลาอันใกล้ก่อนปีคนเหล็ก 2029 ที่มี Skynet ก็เป็นได้