ช่วงนี้แอป “FaceApp” หรือที่เราเรียกกันง่ายๆ ว่า “แอปหน้าแก่” กำลังเป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก [คลิกอ่านรีวิว]
แต่ว่าเมื่อลองไปดูเงื่อนไขว่าแอปนี้ทำอะไรกับรูปเราบ้าง อาจต้องตระหนักกันซะแล้ว หรือว่าอาจเป็นเครื่องมือทางการเมืองหรือเปล่านะ?
โดยทางสำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า Chuck Schumer ซึ่งเป็นผู้นำเสียงข้างน้อยวุฒิสภาสหรัฐฯ ได้เรียกร้องให้ FBI และ FCT (Federal Trade Commission) ตรวจสอบเรื่องความมั่นคงปลอดภัยของชาติรวมถึงเรื่องความเป็นส่วนตัวของ FaceApp ซึ่งเป็นแอปที่กำลังเป็นที่นิยมทั่วโลกอยู่ในขณะนี้ โดยได้ส่งจดหมายไปเมื่อวันพุธที่ผ่านมา
ทำไมสหรัฐฯ ถึงกังวล?
สาเหตุที่สหรัฐฯ เริ่มกังวลเป็นเพราะว่า FaceApp เป็นแอปที่ถูกพัฒนาขึ้นในรัสเซีย และภายใต้เงื่อนไขของ FaceApp ก็ยังระบุอีกด้วยว่า FaceApp อาจจะนำรูปไปใช้ประโยชน์อะไรก็ได้ ก็เลยทำให้เกิดความกังวลว่า FaceApp จะเอาข้อมูลของเราไปให้ AI เรียนรู้และวิเคราะห์ หรือที่แย่ไปกว่านั้น ก็คืออาจจะเอาข้อมูลของเราไปใช้หาเสียงเลือกตั้ง แบบที่ Facebook เคยโดนกล่าวหามาแล้วครั้งหนึ่งกับกรณี Cambridge Analytica
อย่างที่ทราบกันว่าแอปนี้มาจากรัสเซียและทุกแอปไม่ว่าจะเป็นของประเทศไหนที่ต้องประมวลผลบนเซิร์ฟเวอร์ มันก็ต้องนำข้อมูลผู้ใช้ไปเก็บในเซิร์ฟเวอร์ของตัวเองอยู่แล้ว ก็เลยมีความกังวลเกิดขึ้น เพราะถ้าเผลอมีนักการเมืองสหรัฐฯ เล่นแอปนี้ มันอาจจะกลายเป็นฝันร้าย ข้อมูลส่วนตัวของนักการเมืองอาจจะถูกล้วงไปได้ ทางคณะกรรมาธิการแห่งชาติพรรคเดโมแครตก็เลยส่งหนังสือแจ้งเตือนผู้สมัครเลือกตั้งที่จะทำการหาเสียงสำหรับปีการเลือกตั้ง 2020 ในสหรัฐฯ ว่าให้ระวังและลบแอปออกซะ (อันนี้ก็สืบเนื่องมาจากที่มีการกล่าวหาว่ารัสเซียมีเอี่ยวกับการที่ทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง)
แต่อย่างไรตาม ตอนนี้ก็ยังไม่มีหลักฐานใด ๆ บ่งชี้ว่า FaceApp เอาข้อมูลไปให้กับทางรัฐบาลรัสเซีย และทางผู้พัฒนา FaceApp ก็ได้แถลงผ่าน The Guardian ว่าแอปของเราอัพโหลดเฉพาะรูปที่คุณเลือกเท่านั้น ไม่ได้ดูดรูปทั้งเครื่อง และรูปที่อัปโหลดไปก็จุดประสงค์เพื่อในไปประมวลผล และจะลบออกภายใน 48 ชั่วโมง และถึงแม้ว่าแอปนี้จะเป็นของรัสเซีย แต่ก็ใช้ระบบ Cloud ของ Amazon และ Google ซึ่งเป็นของสหรัฐฯ และทางผู้พัฒนาไม่มีความคิดที่จะนำข้อมูลไปขายแต่อย่างใด แต่ก็ยังมีคนตั้งข้อสังเกตว่า เราจะรู้ได้ไงว่าภายใน 48 ชั่วโมง ทีมงาน FaceApp จะทำอะไรกับรูปไหม?
เรื่องน่ารู้ที่จะช่วยให้คุณเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น
- ความจริงแล้วแอปทุกแอปที่ให้บริการผ่านระบบอินเทอร์เน็ตต้องเข้าถึงข้อมูลแล้วนำข้อมูลไปไว้บน Server อยู่แล้ว แต่ว่าถ้าเป็น App ที่มีความปลอดภัยจะต้องเข้ารหัสข้อมูลที่แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ก็เปิดดูไม่ได้ และเข้าถึงข้อมูลที่ผู้ใช้อนุญาตเท่านั้น
- การที่ผู้ให้บริการแอปได้ข้อมูลเราไป หลายครั้งมีการนำไปใช้ประโยชน์จริง แต่เพียงเป็นการแค่ให้ระบบ AI เรียนรู้เท่านั้น เจ้าหน้าที่ไม่สามารถเปิดดูได้ เช่นกรณีของ Google Photos ที่ให้อัปรูปฟรีในความละเอียดไม่เกิน 16 ล้านพิกเซลได้ไม่จำกัดเนื้อที่ เหตุเพราะว่า Google ต้องการให้ระบบ Machine Learning ของต้นได้เรียนรู้จากภาพจำนวนมากเพื่อให้ระบบฉลาดขึ้น แยกแยะสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้น โดยรูปภาพในระบบนั้นเจ้าหน้าที่ไม่สามารถเปิดดูได้ มีแค่ AI ในระบบที่เห็นกันเองเท่านั้น [คลิกอ่านแถลงจาก Google]
- แต่จากกรณีดังกล่าวก็ทำให้บางหน่วยงานไม่ไว้ใจที่จะใช้บริการ อย่างล่าสุดก็คือ “โรงเรียนในเยอรมันเลิกใช้ Office 365 ด้วยเหตุเพราะกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวและกังวลว่าอาจเป็นสายลับให้สหรัฐอเมริกา (คำพูดคล้ายๆ กรณีนี้เลยแหะ)”
- แต่อย่างไรก็ตามก็มี App บางส่วนที่แอบเข้าถึงข้อมูลนอกเหนือจากที่ได้ระบุไว้เช่นกัน อันนี้ต้องอ่านเงื่อนไข ดูรีวิวให้ดี และตัดสินใจว่ายังจะใช้อยู่หรือไม่
ซึ่งความเห็นจากคุณนู๋เนย โปรแกรมเมอร์ไทยในสหรัฐอเมริกาก็ออกมาบอกว่าประเด็น FaceApp เป็นเรื่องธรรมดามาก ๆ การขอใช้สิทธิ์ต่าง ๆ ก็ปกติ สุดท้ายก็คือความเชื่อใจที่ผู้ใช้จะมีให้นักพัฒนาว่าต้องการให้เข้าถึงข้อมูลของเรารึเปล่า และน่าจะเป็นประเด็นที่ว่าเป็นแอปรัสเซีย จึงทำให้เกิดกระแสปั่นขึ้นมาด้วย
ปัจจุบัน FaceApp มีคนโหลดแล้วกว่า 80 ล้านผู้ใช้ และมี CEO ชื่อว่า Yaroslav Goncharov ซึ่งเคยเป็นอดีตผู้บริหารของ Yandex ที่หลาย ๆ คนรู้จักกันดีว่าเป็น “Russia’s Google”
อ้างอิง:
The Guardian, Faceapp , Forbes , TechCrunch, AppleInsider, The Verge, 9to5mac, Enterprise IT Pro, Google Blog Reuters
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส