เมื่อ 7 กันยายน 2019 มีการถ่ายทอดสด Chandrayaan-2 Vikram ยาน Lander ของอินเดียกำลังทำการลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ แต่ในระหว่างนั้นองค์การวิจัยอวกาศแห่งอินเดีย (ISRO) ไม่สามารถติดต่อกับยานได้ ซึ่งอยู่ในระยะห่างจากพื้นผิวของดวงจันทร์ 300 เมตร หลังจากนั้นวันที่ 10 กันยายนมีข่าวว่าพบยานอยู่บนดวงจันทร์แต่ไม่มีสัญญาณตอบสนองใด ๆ

ต่อมา 20 พฤศจิกายน ISRO ได้เปิดเผยสาเหตุของความผิดพลาดว่าขณะที่ยาน Vikram กำลัง Soft Landing ลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ระบบเบรกกลับทำงานผิดปกติ จึงได้พุ่งชนกับพื้นผิวดวงจันทร์ภายในระยะ 500 เมตรที่เป็นเป้าหมายของการลงจอด

ล่าสุด 1 มกราคม 2020 Kailasavadivoo Sivan หัวหน้า ISRO ได้ออกมาแถลงข่าวว่าภารกิจ Chandrayaan-3 ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลแล้วและจะเปิดตัวในปี 2021 และภารกิจ Chandrayaan-3 จะใช้เงินประมาณ 86 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งถูกกว่าภารกิจ Chandrayaan-2 ที่ใช้เงินถึง 134 ล้านเหรียญสหรัฐ

ระบบการทำงานของ Chandrayaan-3 จะคล้ายกับ  Chandrayaan-2 ซึ่งจะประกอบด้วย 3 องค์ประกอบหลัก คือ 1. โมดูลที่ใช้เป็นตัวขับเคลื่อน หรือ Orbiter ยานขนส่ง 2. Lander ยานอวกาศที่ทำหน้าที่ลงจอดบนดวงจันทร์ และ 3. Rover ยานสำรวจที่สามารถวิ่งไปตามพื้นผิวของดวงจันทร์ และภารกิจ Chandrayaan-3 จะมีเป้าหมายในการลงจอดเดียวกับ Chandrayaan-2 ที่อยู่ตรงขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์เช่นกัน

แม้ว่า 31 ธันวาคม 2019 Jitendra Singh รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอวกาศของอินเดียกล่าวว่าจะเปิดตัว Chandrayaan-3 ในปี 2020 นี้ แต่ 1 มกราคม 2020 Sivan หัวหน้า ISRO กล่าวว่าจะเปิดตัวในปี 2021 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าภารกิจครั้งนี้จะต้องชัวร์และไม่พลาดเป็นครั้งที่ 3 เป็นอันขาด นอกจากนี้ทั่วโลกต่างมองเห็นถึงความพยายามของอินเดียและขอเป็นกำลังใจให้สำเร็จดั่งที่ตั้งใจไว้

ที่มา : cnet และ indiatoday

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส