หลังเกิดเหตุก่อการร้ายในปารีสที่มีการกราดยิงสำนักพิมพ์นิตยสาร Charlie Hebdo ก็ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมมากมาย ซึ่งดูเหมือนบริการแชตยอดนิยมต่างๆ ก็โดนหางเลขไปด้วยเมื่อนายกรัฐมนตรี David Cameron ประกาศเตรียมแบนบริการที่ไม่สามารถสอดแนมได้ หากเขาได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย
David Cameron กล่าวว่า “การโจมตีในกรุงปารีสได้แสดงให้เห็นถึงภัยคุกคามที่เรากำลังเผชิญ และเราต้องเตรียมรับมือโดยปรับปรุงประสิทธิภาพหน่วยข่าวกรองเพื่อปกป้องประชาชนของเราให้ปลอดภัย แล้วทำไมเราจะต้องยอมให้ใช้การสื่อสารที่เราเข้าไปอ่านไม่ได้”
บริการที่ David Cameron หมายถึงน่าจะเป็นบริการสนทนาผ่านอินเทอร์เน็ตที่เข้ารหัสแบบ end-to-end อย่าง WhatsApp, Telegram, iMessage, SnapChat (ส่วน LINE จะเข้ารหัสแบบ end-to-end ในโหมด Hidden Chat) ซึ่งไม่สามารถดักข้อความที่ส่งไปมามาอ่านได้โดยง่าย ซึ่งถ้าหากเขาได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม แล้วบริการเหล่านี้ไม่เข้าไปตกลงกับการทางอังกฤษ ก็มีแนวโน้มที่ถูกแบนโดยกฎหมาย
เมื่อข่าวนี้แพร่ออกไป ก็มีกระแสต่อต้านขึ้นมาทันที กระแสที่น่าสนใจคือถึงรัฐบาลจะแบนบริการพวกนี้ไป มันก็แค่สร้างความลำบากให้กับผู้ใช้ทั่วไป พวกผู้ก่อการร้ายก็ใช้วิธีส่งข้อมูลเข้ารหัสในแบบของตัวเองอยู่ดี
งานนี้มีหลายประเด็นเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งเรื่องสิทธิส่วนบุคคลที่ต้องยอมเสียสละให้รัฐเข้ามาสอดแนมเพื่อความปลอดภัยของสังคมหรือไม่ (คิดถึงเรื่องกล้องวงจรปิดที่ก็ถือว่าละเมิดสิทธิส่วนบุคคลเหมือนกัน เพราะถ่ายวิดีโอเห็นหน้าคนตลอดเวลา แต่เราก็ยอมเสียสิทธิส่วนบุคคลตรงนี้เพื่อให้สังคมปลอดภัยขึ้น) หรือเรื่องความเข้าใจในโลกไซเบอร์ของคนรุ่นก่อน ที่คนรุ่นหลังก็ออกมาบอกว่าแบนไปก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา
แล้วผู้อ่านแบไต๋.คอมคิดว่าอย่างไรครับ ถ้ารัฐบาลไทยจะขออ่านข้อความที่แซตกันบ้าง
ที่มา: Arstechnica