เนื่องจากเขตชุมชนที่มีผู้คนหนาแน่น เช่น ห้างสรรพสินค้า มหาวิทยาลัย หอประชุม และบริษัทที่มีพนักงานจำนวนมาก การใช้สมาร์ตโฟนและคอมพิวเตอร์เชื่อมต่อ WiFi 2.4GHz อาจมีข้อดีที่สัญญาณไปได้ไกล แต่ช่องสัญญาณน้อย มีสัญญาณรบกวน และอัตราความเร็วในการส่งข้อมูลที่น้อย 600 Mbps ต่อมาจึงมี WiFi คลื่นความถี่ 5 GHz เพื่อขยายช่องสัญญาณที่เพิ่มขึ้น รองรับอุปกรณ์ได้มากขึ้น ความเร็วในการส่งข้อมูลก็เพิ่มถึง 3.2 Gbps แต่สัญญาณไปได้ไม่ไกลมาก และต่อมาได้มีมาตรฐานใหม่อีกคือ WiFi 60 GHz ช่วยให้สามารถใช้แบนด์วิดท์ได้มากขึ้นและส่งข้อมูลด้วยอัตราสูงถึง 7 Gbps แต่สัญญาณไปไม่ไกลและเจาะกำแพงไม่ได้ จึงใช้ได้ในห้องที่จำกัด ล่าสุดจึงมีการพัฒนามาตรฐาน WiFi 6E ขึ้นมา เพื่อให้มีช่องสัญญาณกว้างมากขึ้น
สรุปสั้น ๆ WiFi 6E คืออะไร
- ใช้เทคโนโลยีเดิมของ WiFi 6 ไม่มีการเปลี่ยนแปลง
- แต่เพิ่มการใช้งานในคลื่น 6 GHz ตั้งแต่ 5.925 GHz ไปจนถึง 7.125 GHz เข้าไป
- ทำให้ WiFi 6E มีช่วงคลื่นกว้าง 1,200 MHz สามารถสร้างช่องสัญญาณขนาด 160 MHz ได้ถึง 7 ช่องสัญญาณ
- เทียบกับคลื่น 5 GHz ที่สร้างช่องสัญญาณขนาด 160 MHz ได้แค่ 2 ช่องสัญญาณ ส่วนคลื่น 2.4 GHz นั้นทำไม่ได้เลย
- แล้วระยะการส่งก็ใกล้กว่า 5 GHz เดิมด้วย เมื่อรวมกับการสร้างช่องสัญญาณแบบ 160 MHz ได้ 7 ช่อง ก็ทำให้มีโอกาสคลื่นชนจากข้างบ้านลดลง
3 มกราคม 2020 Wi-Fi Alliance องค์กรส่งเสริมเทคโนโลยี WiFi และรับรองผลิตภัณฑ์ WiFi ให้ทำงานร่วมกันในมาตรฐานเดียวกัน ได้เปิดตัวมาตรฐานใหม่ WiFi 6E เพื่อใช้ระบุอุปกรณ์ที่มีคุณบัติและความสามารถสูงขึ้นจาก WiFi 6 ที่มีอยู่เดิม โดยจะมีประสิทธิภาพสูงขึ้น มีค่าความหน่วงหรือ Latency ที่น้อยลง (Latency คือ ระยะเวลาที่ใช้ส่งแพกเกจข้อมูลจากอุปกรณ์ไปยังปลายทาง) และอัตราการส่งข้อมูลที่เร็วขึ้น ขณะนี้คลื่นความถี่ 6 GHz ในอเมริกานั้นเปิดให้ใช้โดยไม่ต้องมีใบอนุญาต คาดว่าเมื่อมีการอนุมัติใช้ให้ใช้งานได้เราก็จะเห็นอุปกรณ์ Wi-Fi 6E ออกมาให้ใช้งานอย่างรวดเร็วและสามารถใช้ประโยชน์จากสเปกตรัมคลื่นที่เพิ่มขึ้นในการสร้างนวัตกรรมของ Wi-Fi ได้อย่างต่อเนื่อง
Wi-Fi คลื่นความถี่ 6 GHz จะกลายเป็นมาตรฐานที่นำไปใช้งานทั่วโลก และยังเป็นเทคโนโลยีพื้นฐานสำหรับ IoT รวมทั้งเป็นส่วนประกอบสำหรับเครือข่าย 5G และเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญในการขยายเครือข่ายการสื่อสารไปยังพื้นที่ที่ด้อยโอกาส จะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจโลกแข็งแกร่ง เพราะข้อดีคือ มีช่องสัญญาณให้ใช้มากกว่า 5 GHz ความเร็วในการส่งข้อมูลมากกว่า 5 GHz สัญญาณรบกวนน้อยกว่า 5 GHz และสัญญาณไปไกลกว่า 60 GHz
นอกจากนี้คลื่น 6 GHz จะสนับสนุนให้พื้นที่ที่ติดตั้ง Wi-Fi คลื่นความถี่ 5 GHz อยู่แล้วเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีขนาดช่องสัญญาณที่กว้างขึ้น และการเข้าถึงคลื่นความถี่ที่ชัดเจนขึ้นอันเนื่องจากสัญญาณรบกวนที่น้อยลงจากอุปกรณ์ Wi-Fi 4 หรือ Wi-Fi 5 แบบดั้งเดิมในย่านความถี่ 2.4 GHz
Phil Solis ผู้อำนวยการวิจัยของ IDC กล่าวว่าถ้ากฎระเบียบได้รับใบอนุญาตคาดว่าบริษัทต่าง ๆ จะพัฒนาผลิตภัณฑ์คลื่นความถี่ 6 GHz อย่างจริงจังเพราะเข้าใจถึงมูลค่าอันมหาศาลที่ลูกค้าจะได้รับจากคลื่นความถี่ที่ไม่ต้องมีใบอนุญาตนี้ และถ้าคลื่นความถี่ 6 GHz ได้เปิดใช้งานต้นปีนี้ก็จะทำให้เห็นผลิตภัณฑ์ที่ออกมารองรับเร็วขึ้น ความสามารถอันมหาศาลของคลื่นความถี่ 6 GHz และประสิทธิภาพโดย Wi-Fi 6 และ Wi-Fi รุ่นใหม่ ๆ จะทำให้สหรัฐเป็นผู้นำในตลาด 6 GHz โดยที่ยุโรปและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกก็กำลังจะเข้าถึงย่านความถี่นี้ด้วยเช่นกัน
เมื่อหน่วยงานควบคุมเปิดให้คลื่น 6 GHz พร้อมใช้งานคาดว่าอุปกรณ์ Wi-Fi เครื่องแรกที่ใช้ย่านความถี่นี้ จะประกอบด้วย Access points สำหรับผู้ใช้งาน Wi-Fi 6E และสมาร์ตโฟน ตามด้วย Access points ในองค์กร นอกจากนี้คาดว่าจะเห็นภาคอุตสาหกรรมใช้ WiFi 6E ผ่านแอปต่าง ๆ ได้แก่ การวิเคราะห์เครื่องจักร การซ่อมบำรุงจากระยะไกล หรือแบบจำลองการฝึกอบรมพนักงาน รวมทั้งสามารถใช้ประโยชน์คลื่น 6 GHz สำหรับเทคโนโลยี AR/VR อีกด้วย
คลื่นความถี่ 6 GHz มีการจัดทำบล็อกสเปกตรัมที่ต่อเนื่องกัน จึงช่วยให้รองรับช่องความถี่ 80 MHz ได้เพิ่มเติม 14 ช่องและช่องสัญญาณ 160 MHz เพิ่มเติม 7 ช่อง ซึ่งจำเป็นสำหรับแอปพลิเคชันที่ใช้แบนด์วิดท์สูงในการส่งผ่านข้อมูลที่เร็วขึ้น ได้แก่ การสตรีมวิดีโอ Hi-Def และการใช้ VR ด้วยอุปกรณ์ WiFi 6E จะใช้ประโยชน์จากช่องสัญญาณที่กว้างขึ้น และความสามารถเพิ่มเติมในการส่งมอบประสิทธิภาพเครือข่ายที่สูงขึ้น พร้อมกับรองรับผู้ใช้ WiFi จำนวนมากในคราวเดียวกับที่มีการใช้งานที่หนาแน่นก็ตาม
สุดท้ายมีการกล่าวถึง WiFi 6E จากบริษัทชั้นนำมากมายโดยขอสรุปใจความสำคัญ คือ ด้วยแบนด์วิดท์ช่องสัญญาณที่ใหญ่ขึ้นจะช่วยรองรับอุปกรณ์การเล่นเกมได้มากขึ้นและเร็วขึ้นด้วย จะข่วยส่งมอบนวัตกรรมที่กว้างขวางและตอบสนองต่อการใช้งาน 5G อีกทั้งจะช่วยเพิ่มประสบการณ์ใหม่บนสมาร์ตโฟน อุปกรณ์ AR / VR อุปกรณ์ Wearable (อุปกรณ์สวมใส่) อุปกรณ์ทางการแพทย์ IoT บ้านอัจฉริยะ จุดเชื่อมต่อและเกตเวย์
ที่มา : wi-fi.org