วันอังคารที่ 5 พฤษภาคม จีนได้ปล่อย Long March-5B จรวดขนส่งขนาดใหญ่พร้อมกับบรรทุกแคปซูลอวกาศรุ่นต่อไปออกจากท่าอวกาศ Wenchang บนเกาะไห่หนาน (เกาะไหหลำ) ทางตอนใต้ของจีน เมื่อ 18:00 น. ในเวลาท้องถิ่น ซึ่งเป็นภารกิจสู่อวกาศครั้งแรกของจรวด Long March-5B

แคปซูลอวกาศมีขนาดความยาวกว่า 20.5 ม. และมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 5.2 ม. สามารถบรรทุกนักบินอวกาศไปยังดวงจันทร์พร้อมลูกเรือได้ถึง 6 คนในแต่ละเที่ยวบิน รวมทั้งสามารถกำหนดค่าในการปล่อยตัวและบินกลับของแคปซูลโดยให้บรรทุกลูกเรือ 3 คนรวมกับสัมภาระได้มากถึง 500 กก. ซึ่งสามารถส่งตัวอย่างสำหรับการวิจัยและอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์จากสถานีอวกาศของจีนกลับมาสู่โลกได้อย่างสบาย

การเปิดตัวแคปซูลครั้งนี้จะเป็นการบินทดสอบวงโคจรระยะสั้นโดยปราศจากลูกเรือ แล้วจะกลับมาลงจอดในทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน เพื่อตรวจสอบเทคโนโลยีการกลับมาของแคปซูล เช่น แผงป้องกันความร้อน และระบบกู้คืนสภาพ ซึ่งแคปซูลจะกลับมาด้วยร่มชูชีพและถุงลมนิรภัยที่ขยายออกเพื่อรองรับการลงจอดบนพื้นแข็ง และแคปซูลจะถูกนำไปปรับใช้ในเที่ยวบินขนส่งลูกเรือที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้มากถึง 10 เที่ยวบิน

วันศุกร์ที่ 8 พฤษภาคม เวลา 13:49 น. ตามเวลาท้องถิ่นในกรุงปักกิ่ง แคปซูลอวกาศรุ่นต่อไปของจีนประสบความสำเร็จในการกลับสู่โลกหลังจากทดสอบอยู่ในวงโคจรเป็นเวลา 2 วัน 19 ชั่วโมงและสามารถลงจอดบนทะเลทรายที่ Dongfeng ได้สำเร็จ แคปซูลอวกาศถูกสร้างโดยบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างหลักสำหรับโครงการอวกาศของจีน (China Aerospace Science and Technology Corp : CASC) ซึ่งจะใช้สำหรับส่งนักบินอวกาศไปยังสถานีอวกาศของจีนในอนาคตและในที่สุดก็จะไปถึงดวงจันทร์

วันที่ 5 พฤษภาคมหลังจากแคปซูลอวกาศแยกตัวออกจากจรวด Long March-5B จากนั้นก็เริ่มขยายปีกแผงโซลาร์เซลล์ที่ผลิตพลังงานและขยายเสาอากาศเพื่อสื่อสารรับส่งข้อมูลกับศูนย์ควบคุมภาคพื้นดิน (ส่วนจรวดทำงานผิดปกติในระหว่างการกลับสู่โลกเมื่อวันพุธ)

จากนั้นแคปซูลได้ยกระดับตัวเองมาอยู่บนวงโคจรเริ่มต้นที่ 162 x 377 กม. วงโคจร 41.1 องศา แล้วทำวงโครจร 7 ครั้งจนกระทั่งถึงวงโคจรรูปไข่ในระยะทาง 8,000 กม. จากพื้นโลกอย่างเสร็จสมบูรณ์ตามแผนที่วางไว้ในวันที่ 7 พฤษภาคม จากนั้นก็ทำการทดสอบอื่น ๆ เพิ่มเติม

8 พฤษภาคม เวลาประมาณ 12:00 น. แคปซูลจะกลับสู่โลกโดยแยกโมดูลส่วนบริการออกไป ซึ่งโมดูลส่วนห้องผู้โดยสารจะกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลก

เมื่อตกลงมาถึงระดับความสูงประมาณ 8 กิโลเมตรจากพื้นดิน ร่มชูชีพสำหรับการชะลอตัวก็จะกางออก ต่อมาเมื่อถึงระยะ 2 กิโลเมตรจากพื้นดินส่วนของถุงลมนิรภัยก็จะขยายออกมาเพื่อรองรับการลงจอดบนพื้นดินที่แข็ง เมื่อลงจอดแล้วจะส่งสัญญาณการค้นหาเพื่อรอการกู้คืน

เวลาบินทั้งหมดในอวกาศใช้เวลาทั้งหมด 2 วันและ 19 ชั่วโมง ในระหว่างนั้นแคปซูลได้ทำการทดลองเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์อวกาศและเทคโนโลยี เช่น การป้องกันความร้อน และการควบคุมระหว่างการกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ รวมถึงการกู้คืนโดยใช้หลายร่มชูชีพและการนำบางส่วนกลับมาใช้ใหม่

Play video

ที่มา : engadget, spacechina, nasaspaceflight และ space.com

 

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส