ช่วงนี้ประธานาธิบดี Donald Trump ดูจะงานเข้าหลายเรื่อง (หรือทำให้ตัวเองงานเข้าเพื่ออยู่ในกระแสก็ไม่แน่ใจ) หลังจากเมื่อวันอังคารที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทางทวิตเตอร์ได้ซ่อนและขึ้นป้ายเตือนข้อความ ต่อทวีตของ Trump ว่า มีเนื้อหาสนับสนุนและส่งเสริมความรุนแรง ทวิตเตอร์ได้เริ่มใช้ฟังก์ชันตรวจสอบข้อเท็จจริงกับข้อความที่ Trump ทวีต ที่ทำให้ต่อมา Trump ออกมาขู่ว่าจะสั่งปิดเครือข่ายโซเชียลเน็ตเวิร์ก โทษฐานที่มาจำกัดเสรีภาพในการแสดงความเห็น (โดยเฉพาะกับของเขา)
ทวิตเตอร์ให้เหตุผลที่ซ่อนข้อความของ Trump จากหน้าฟีดของเขาว่า เป็นเพราะเนื้อหาในทวีตนั้นสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้อ่านก่อความรุนแรง อย่างไรก็ตามทวิตเตอร์ไม่ได้ลบทวีตของ Trump แต่ได้แจ้งเตือนผู้ใช้คนอื่น ๆ ว่า “ทวิตเตอร์ได้พิจารณาแล้วว่า การอนุญาตให้เข้าถึงทวีตนี้เป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากเป็นข้อความที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่ยังดำเนินอยู่และมีความสำคัญต่อสาธารณชน” โดยผู้ใช้ทวิตเตอร์ยังสามารถกดเข้าไปดูเนื้อหาที่ซ่อนไว้ได้ แน่นอนว่าการการซ่อนข้อความในครั้งนี้ย่อมเป็นการสร้างไม่พอใจให้กับ Trump (ที่ก็ไม่ค่อยพอใจสิ่งที่คนอื่นตอบโต้เขาเรื่องต่าง ๆ ที่สะท้อนถึงความไม่เห็นด้วยต่อตัวเขาอยู่แล้ว)
ทวีตของ Trump ที่เป็นตัวจุดชนวนศึกของเขาและทวิตเตอร์รอบใหม่นี้ ทวีตเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม มีเนื้อหาเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่อดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจผิวขาวจำนวน 4 นาย ใช้กำลังเข้าจับกุมพลเมืองผิวดำจนเกิดการเสียชีวิตขึ้น เหตุเกิดขึ้นที่เมืองมินนีแอโปลิส รัฐมินนีโซตา ลุกลามบานปลายเกิดเป็นเหตุประท้วงใน 25 รัฐ หรือก็คือเกือบครึ่งหนึ่งของสหรัฐฯ ในตอนนี้ และมีแนวโน้มที่การประท้วงจะทวีความรุนแรงมากขึ้นอีกในสัปดาห์นี้ หลังจาก 16 รัฐออกมาประกาศเคอร์ฟิวแล้ว
ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ระบุว่า จะส่ง “กองกำลังแห่งชาติ (National Guard)” เข้าควบคุมสถานการณ์ จากนั้นก็ทวีตข้อความในเชิงข่มขู่ว่า “หากมีการปล้นร้านต่าง ๆ เกิดขึ้นเมื่อไร การลั่นกระสุน (ใส่ประชาชน) ก็จะเกิดขึ้น” (ตอนนี้ก็ได้เกิดขึ้นแล้ว ดังที่หลายคนคงจะได้เห็นคลิปการปล้นร้าน Gucci และ Nike ของประชาชนอเมริกัน) ซึ่งคำพูดของ Trump นั้นเป็นการอ้างถึงคำพูดในเหตุการณ์ช่วง 1960s ซึ่ง Walter Headley อธิบดีกรมตำรวจในตอนนั้น ใช้คำพูดนี้เพื่อประกาศท่าทีอันแข็งกร้าวต่อการควบคุมพลเมืองผิวดำ
การที่ทวิตเตอร์เลือกจะขึ้นข้อความเตือนแทนการลบโพสต์นั้น เป็นมาตรการของทวิตเตอร์เองที่จะใช้สำหรับกรณีที่ข้อความนั้นทวีตโดยบุคคลสาธารณะ และมีเนื้อหาละเมิดข้อกำหนด ซึ่งทวิตเตอร์ใช้มาตรการนี้มาตั้งแต่กลางปี 2019 แต่ที่ผ่านมาไม่เคยเกิดกรณีซ่อนและออกคำเตือน รวมถึงร้ายแรงขนาดลบข้อความของบัญชีไหนมาก่อน “ทวีตที่เชื่อมโยงกับความรุนแรง เป็นความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดการกระทำเดียวกันกับที่เกิดขึ้นในปัจจุบันตอนนี้” แถลงการณ์ของทวิตเตอร์ออกมาย้ำจุดยืนของตัวเอง
โดยการซ่อนและออกคำเตือนนี้จะทำให้ผู้ใช้ทวิตเตอร์รายอื่น ไม่สามารถเข้าไปกดไลก์ เมนชั่น หรือรีทวีตของ Trump ต่อแบบไม่ได้เพิ่มความเห็นของตัวเอง แต่ทวิตเตอร์ระบุว่า การรีทวิตดังกล่าวยังทำได้หากแสดงความเห็นใหม่เข้าไปด้วย
การประกาศเปิดศึกกับ Trump ของทวิตเตอร์ในครั้งนี้ มีขึ้นหลังจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ลงนามในคำสั่งพิเศษซึ่งมีเป้าหมายเพื่อยกเลิกการคุ้มครองทางกฎหมายที่สื่อโซเชียลมีเดียได้รับอยู่ในปัจจุบัน โดยคำสั่งนี้จะยังไม่มีผลบังคับใช้ทันที แต่แน่นอนว่าจะเป็นคำสั่งที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของสื่อออนไลน์ในโลกสมัยใหม่อย่างแน่นอน โดยเฉพาะกับรัฐบาลที่มีประวัติคุกคามสื่อมาโดยตลอด เส้นบาง ๆ ของการใช้อำนาจโจมตีระหว่างรัฐบาลสหรัฐฯ กับสื่อสหรัฐฯ คงจะมีอีกหลายบทหลายตอนต่อไปจากนี้
ก่อนหน้านี้ผู้นำสหรัฐได้ทวีตข้อความเนื้อหาเกี่ยวกับการใช้บัตรลงคะแนนเสียงเลือกตั้งผ่านทางไปรษณีย์ (Mail-In Ballots) โดย Trump กล่าวว่า บัตรรูปแบบดังกล่าวสามารถก่อให้เกิดการทุจริตและบิดเบือนผลการเลือกตั้งได้ ต่อมาทางทวิตเตอร์ได้ทำการติดป้าย fact-check เพื่อให้ผู้ติดตามทวีตของผู้นำสหรัฐฯสามารถเข้าไปตรวจสอบและใช้วิจารณญาณเพิ่มเติมได้ว่า จะเชื่อหรือไม่เชื่อ พร้อมเชื่อมโยงแหล่งข้อมูลจากหลากหลายแหล่งว่า ยังไม่พบหลักฐานการโกงผลการเลือกตั้งจากการใช้ระบบลงคะแนนแบบ Mail-In Ballots ซึ่งก็แน่นอนว่าทำให้ Trump ออกอาการ ทวีตข้อความโจมตีทวิตเตอร์ว่า พยายามแทรกแซงการเลือกตั้งของสหรัฐฯ และอ้างว่าฝั่งทวิตเตอร์ได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายที่ต่อต้านเขา
ฝั่งของเฟซบุ๊กก็มีความเคลื่อนไหว โดย Mark Zuckerberg ออกมาโพสต์แสดงจุดยืนว่า จะไม่ลบหรือเซนเซอร์โพสต์ของ Trump แบบเดียวกับที่ทวิตเตอร์ทำ โดย Zuckerberg ยอมรับว่า โพสต์ที่ใช้ข้อความเดียวกันกับในทวิตเตอร์ของ Trump มีความพยายามจะอ้างอิงถึงถ้อยคำที่นำไปสู่ความรุนแรงในอดีตจริง และย่อมจะทำให้ผู้คนไม่พอใจเป็นจำนวนมาก แต่ในอีกด้านหนึ่ง ประชาชนก็มีสิทธิรับรู้ว่า รัฐบาลมีความคิดและแผนการจะทำอะไรบ้าง (นัยยะว่า ไม่ว่าจะดีหรือร้าย ประชาชนก็น่าจะมีสิทธิรับรู้และตัดสินการกระทำของรัฐบาล และใช้วิจารณญาณเอาเอง)
และภายหลัง Trump ก็โพสต์ในเฟซบุ๊กขยายความว่า โพสต์แรกเรื่องการจะส่งกองกำลังแห่งชาติเข้าไปควบคุมสถานการณ์นั้น เป็นเพียง “คำเตือน” หากเหตุการณ์ควบคุมไม่ได้เท่านั้น อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์ The Verge อ้างข้อมูลจากโพสต์ภายในบริษัทเฟซบุ๊กที่หลุดออกมา ว่า นโยบายขององค์กรที่เคยประกาศไว้ว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองและโพสต์ของนักการเมืองนั้น ส่งผลให้พนักงานของบริษัทหลายคนไม่พอใจ และเคยมีการยื่นขอเรียกร้องต่อผู้บริหารให้ทบทวนนโยบายนี้แล้วด้วย
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส