อันที่จริงการแบน Huawei นั้นไม่ได้มีความคิดริเริ่มแค่ในสมัยประธานาธิบดี Donald Trump เท่านั้น ย้อนกลับไปสมัยอดีตประธานาธิบดี Barack Obama สหรัฐอเมริกาก็เริ่มไม่เชื่อถือใน Huawei อยู่แล้วด้วยเหตุผลเดียวกันว่าอุปกรณ์ของ Huawei จะมีการเก็บข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานผ่าน Backdoor และถูกกลับไปยังปักกิ่ง โดยในปี 2012 คณะกรรมการข่าวกรองก็มีการเสนอให้แบน Huawei และ ZTE แล้วด้วย
แต่ท้ายที่สุด เมื่อปีที่ผ่านมาในยุคสมัยของประธานาธิบดีคนปัจจุบัน Donald Trump ก็ได้ออกคำสั่งแบน Huawei อย่างจริงจัง เริ่มตั้งแต่ห้ามบริษัทเครือสหรัฐฯ ทำการค้ากับ Huawei หากไม่ได้รับอนุญาต (ซึ่งปัจจุบัน Google ก็ยังโดนตัดขาด) ไปจนถึงห้ามบริษัทต่างประเทศที่ใช้เทคโนโลยีของสหรัฐทำการค้ากับ Huawei อีก เอาจริง ๆ ทุกคนก็เห็นเหมือนกันว่า Huawei มาแรงมาก นอกจากจะขึ้นเป็นผู้ผลิตสมาร์ตโฟนอันดับ 2 ของโลกแล้ว ยังเป็นบริษัทอันดับ 1 ที่กำลังจะสร้างโครงข่าย 5G ในหลายประเทศอีกด้วย
แน่นอนว่า 5G กำลังเดินทางสู่การขยายการติดตั้งไปทั่วโลกทำให้สหรัฐฯ เตือนหลายประเทศว่าห้ามใช้อุปกรณ์โครงข่ายของ Huawei ซึ่งบางประเทศก็ฟังอย่าง ญี่ปุ่นหรืออสเตรเลีย แต่บางประเทศก็ไม่ฟัง เช่น เยอรมนี เป็นต้น ส่วนสหราชอาณาจักรเพิ่งมาเปลี่ยนใจไม่เอา 5G ของ Huawei ในภายหลัง
คำถามคือทำไมสหรัฐฯ ถึงจริงจังกับการแบน Huawei ขนาดนั้นกัน?
อดีต CEO ของ Google, Eric Schmidt ปัจจุบันเป็นประธานคณะกรรมการด้านนวัตกรรมกลาโหมของเพนตากอนกล่าวเหมือนกับที่ Huawei ถูกกล่าวหาแบบที่ผ่าน ๆ มาคือเรื่องความปลอดภัยและความมั่นคงเป็นหลัก ซึ่งในประเด็นนี้ Huawei ก็ย้ำหลายครั้งว่ามันไม่เป็นความจริง โดย Victor Zhang ประธานของ Huawei ประจำสหราชอาณาจักรกล่าวว่า คำกล่าวหาของ Schmidt ที่บอกว่า Huawei ทำงานให้รัฐบาลจีนนั้นไม่เป็นความจริงอย่างยิ่ง Huawei เป็นบริษัทที่เป็นอิสระ ไม่ขึ้นตรงกับรัฐบาลใดแม้แต่รัฐบาลจีน อย่างไรก็ตาม กฏหมายในจีนมีสิทธิบังคับให้ Huawei ส่งมอบข่าวกรองที่ได้จากอุปกรณ์ที่ขายให้ผู้บริโภคและบริษัทหากรัฐบาลร้องขอ
แต่สหรัฐก็ต้องมีผลิตภัณฑ์ที่ดีไม่แพ้กันด้วย
แม้ว่า Schmidt จะมีความมั่นใจสูงมากว่า Huawei จะต้องทำหรือมีอะไรบางอย่างที่ผิดกฏของสหรัฐฯ แต่ในทางกลับกัน Schmidt ก็ระบุว่า ปัญหาที่สำคัญคือ Huawei เป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงระดับโลกและยังมีผลิตภัณฑ์ที่ดีกว่าคู่แข่ง การลงโทษบริษัทที่ประสบความสำเร็จไม่ใช่ทางออกเดียวที่จะช่วยสหรัฐฯ ได้ แต่ทางออกที่ดีที่สุดของปัญหานี้คือสหรัฐฯ จะต้องมีผลิตภัณฑ์ที่ดีเยี่ยมด้วย
ประเด็นสำคัญอีกอย่างที่ทำให้สหรัฐฯ ไม่ชอบ Huawei รวมถึงตัว Schmidt เองก็ยอมรับว่ามีอคตินี้อยู่ในใจคือ ‘จีนเก่งเรื่องลอกเลียนแบบ จีนไม่คิดจะทำอะไร จีนมีความสามารถสูงมากในการขโมยไอเดียของชาติอื่น จริง ๆ อคติเหล่านี้จะต้องถูกลบออกไปได้แล้ว ที่ผ่านมาก็เห็นว่าจีนทำได้ดี และเผลอ ๆ จะดีกว่าด้วยซ้ำในด้านการวิจัยและนวัตกรรมที่สำคัญ ๆ พวกเขาทุ่มเงินให้อย่างมหาศาลด้านการวิจัยและพัฒนา แต่มันแตกต่างจากตะวันตกอยู่เหมือนกัน
Schmidt แนะนำว่าสหรัฐฯ และจีนต้องทำงานร่วมกันหากเป็นเรื่องของเทคโนโลยี จีนมีแหล่งทรัพยากร เงินทุน รวมถึงเทคโนโลยีที่จะเป็นผู้นำได้ แต่คำถามคือ “ตอนนี้กำลังพัฒนาเทคโนโลยีให้เป็นแพลตฟอร์มสำหรับโลกหรือเพื่อตัวเอง?” ยิ่งมีแพลตฟอร์มมากเท่าไหร่ ยิ่งอันตรายมากเท่านั้น
อ้างอิง PhoneArena
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส