WordPress เป็น CMS แบบฟรีโอเพ็นซอร์สที่ได้รับความนิยมสูงสุดและถูกนำไปใช้งานถึง 37.6% จากเว็บไซต์ทั้งหมดบนอินเทอร์เน็ต ล่าสุดเปิดเผยว่า 11 สิงหาคมนี้จะออก WordPress 5.5 ที่จะมาพร้อมด้วยฟีเจอร์ XML sitemaps อยู่ในตัวโดยไม่ต้องพึ่งพาปลั๊กอินเสริมจากภายนอกอีกต่อไป
เสิร์ชเอนจินจะจัดทำดัชนีเนื้อหาของเว็บไซต์ไว้ในแผนผังเว็บไซต์ (Sitemap) ด้วยรูปแบบของไฟล์ XML โดยจะใช้บอตไปเก็บข้อมูลรายการของเพจ บล็อก แท็ก และเนื้อหาต่าง ๆ จากแผนผังเว็บไซต์ที่จัดเก็บอยู่ในไฟล์ XML หรือที่เรียกว่า XML sitemaps แต่เนื่องจาก WordPress ไม่สนับสนุน XML sitemaps มาตั้งแต่เปิดตัวในปี 2003 ซึ่ง Admin ทั้งหลายจึงต้องหันไปพึ่งปลั๊กอิน SEO อย่าง All in One SEO Pack และ Yoast SEO จากผู้พัฒนาที่เป็นบุคคลที่ 3 มาโดยตลอด
WordPress 5.5 จะแสดงดัชนีของแผนผังเว็บไซต์ไว้ที่ /wp-sitemap.xml ซึ่งเป็นไฟล์ XML หลักที่ทำหน้าที่เป็นหน้าดัชนีจัดเก็บรายการหน้าแผนผังเว็บไซต์ทั้งหมด สรุปง่าย ๆ ว่าในหนึ่งเว็บไซต์จะมีรายการที่ต้องจัดเก็บจำนวนมาก จึงต้องแยกจัดเก็บแผนผังเว็บไซต์ออกเป็นหลายหน้า โดยจะใช้ไฟล์ wp-sitemap.xml เป็นดัชนีเชื่อมโยงไปยังแผนผังทุกหน้า เพื่อช่วยให้บอตของเสิร์ชเอนจินเข้ามาเก็บข้อมูลได้ง่ายขึ้นนั่นเอง
หน้าดัชนีของแผนผังเว็บไซต์จะสามารถจัดเก็บแผนผังเว็บไซต์ได้สูงสุด 50,000 หน้า และในหนึ่งหน้าแผนผังเว็บไซต์จะสามารถจัดเก็บรายการของเนื้อหาได้สูงสุด 2,000 รายการ
แผนผังเว็บไซต์จะสร้างรายการของโพสต์, หมวดหมู่และแท็ก (Taxonomies), รายการโพสต์ของผู้เขียน (Author Archives) และหน้าโฮมเพจของเว็บไซต์ เพื่อเผยแพร่และสืบค้นจากสาธารณะโดยเฉพาะสำหรับบอตของเสิร์ชเอนจิน โดยจะมีไฟล์ robots.txt ที่ช่วยอ้างอิงไปยังดัชนีแผนผังเว็บไซต์ จึงทำให้บอตของเสิร์ชเอนจินสามารถนำดัชนีไปจัดเก็บในฐานข้อมูลและใช้ในการค้นหาเว็บไซต์ได้ง่ายยิ่งขึ้น
ดังนั้นผู้ที่จะอัปเดตเว็บไซต์เป็น WordPress 5.5 ก็สามารถใช้ฟีเจอร์ XML sitemaps ที่มีอยู่ในตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่ต้องพึ่งพาปลั๊กอิน
ส่วนใครที่ชื่นชอบปลั๊กอิน SEO อย่าง All in One SEO Pack หรือ Yoast SEO ซึ่งสนับสนุนการสร้างแผนผังเว็บไซต์พร้อมด้วยคุณสมบัติการปรับแต่งขั้นสูงเพื่อช่วยให้เว็บไซต์ของคุณติดอันดับการค้นหาที่สูงขึ้น เมื่ออัปเดตเป็น WordPress 5.5 คุณไม่จำเป็นต้องทำอะไรเลยหรืออาจจะปิดฟีเจอร์ XML sitemaps ของ WordPress 5.5 ออกไปก็ได้
ที่มา : zdnet, make.wordpress.org และ wpbeginner
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส