วันศุกร์ที่ 14 สิงหาคม Amazon.com อีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ได้เปิดตัว Amazon Pharmacy ร้านขายยาออนไลน์ในเมืองทางตอนใต้ของบังกาลอร์ซึ่งเป็นที่แรกของอินเดีย เพื่อเตรียมขยายการขายยาออนไลน์ในประเทศที่มีประชากรอันดับสองของโลก
Amazon Pharmacy จะเริ่มให้บริการจัดส่งยาทั่วเมืองในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งมีทั้งยาที่สามารถสั่งซื้อได้โดยตรงไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์และยาตามใบสั่งแพทย์ รวมทั้งอุปกรณ์เพื่อสุขภาพขั้นพื้นฐานและยาสมุนไพรแผนโบราณของอินเดีย (อยากจะรู้เหมือนกันว่าสมุนไพรอินเดียนอกจากหมามุ่ยอินเดียแล้วยังมียาอะไรบ้าง สงสัยอีกอย่างว่าจะมียาลูกกลอนเหมือนแบบของไทยหรือไม่)
การลงสนามของ Amazon Pharmacy ในอินเดียจะต้องไปแย่งชิงตลาดกับเจ้าถิ่นอย่าง JioMart บริการร้านขายของชำออนไลน์ของนายมูเกช อัมบานี มหาเศรษฐีของอินเดีย ซึ่งเป็นประธาน, ประธานกรรมการผู้จัดการ และผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของ Reliance Industries Ltd. (RIL) และยังมี Flipkart เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซของอินเดียซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองบังกาลอร์ ที่สำคัญเป็นของ Walmart คู่แข่งของ Amazon ในสหรัฐฯ ได้ตามมาแข่งกันต่อที่อินเดีย รวมทั้งยังมีร้านค้ารายย่อยอื่น ๆ อีกด้วย
นอกจากนี้ Amazon อาจต้องเสี่ยงกับปัญหาเกี่ยวกับกฎระเบียบในการขายยาออนไลน์ของอินเดียที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ เนื่องจากการเติบโตของร้านขายยาออนไลน์ในขณะนี้ไปแย่งลูกค้าของร้านขายยาหน้าเคาน์เตอร์แบบดั้งเดิม ส่งผลให้กลุ่มผู้ขายยาออกมาประท้วงว่าร้านค้าออนไลน์ขายยาโดยไม่มีการตรวจสอบที่ถูกต้อง ดังนั้น Amazon ซึ่งมีฐานลูกค้าจำนวนมาก เมื่อมาขายยาออนไลน์ด้วย ก็จะทำให้ร้านขายยาหน้าเคาน์เตอร์แบบดั้งเดิม 5 ล้านครอบครัวถึงกับเจ๊งได้ แล้วอาจจะออกมาเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลให้ต่อต้าน Amazon ได้
เมื่อเดือนมกราคม Amazon ประกาศว่าจะลงทุนในอินเดีย 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และยังเปิดเผยอีกว่าก่อนหน้านี้บริษัทได้ลงทุนในอินเดียไปแล้ว 5,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
เดือนพฤษภาคม Amazon ได้เปิดตัว Amazon Food เพื่อส่งมอบอาหารในบังกาลอร์โดยไม่คิดค่าส่ง เดือนมิถุนายน Amazon ได้รับการอนุมัติให้ส่งมอบเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเบงกอลรัฐทางตะวันตกของอินเดีย ต่อมาเดือนกรกฎาคม Amazon ได้เพิ่มคลังสินค้าใหม่ 10 แห่งในอินเดียและขยายอาคารที่มีอยู่อีก 7 แห่ง และปลายเดือนก็ได้เปิดตัวการขายประกันภัยรถยนต์
เชื่อว่าการเคลื่อนไหวรุกตลาดในอินเดียของ Amazon เนื่องจากอินเดียเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีประชากรอันดับสองของโลก และปัจจุบันอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้ลูกค้าจำเป็นต้องอยู่กับบ้านเพื่อปลอดภัยจึงหันมาพึ่งพาร้านค้าออนไลน์ ซึ่งไตรมาสที่ 1 ปี 2020 Amazon มีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 26% อย่างเห็นได้ชัด แม้ว่ากำไรจะลดลงเพราะต้นทุนค่าสินค้าและค่าขนส่งที่แพงขึ้นก็ตาม
ที่มา : reuters
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส