Apple เปิดตัว Mac พร้อมชิปประมวลผล Apple M1 หรือชิป ARM ที่สร้างกระแสรุนแรงกลบ Intel มิด แต่เนื่องจาก Apple M1 นั้นเป็นของใหม่เป็นธรรมดาที่จะต้องมีปัญหาบ้าง ไม่มีทางเพอร์เฟกต์ไปเสียทุกอย่าง และนี่คือ 10 ปัญหาของ Apple M1 ที่คุณควรรู้ก่อนจะมือลั่นซื้อมาใช้งานครับ
1. ต่อจอนอกได้เพียงจอเดียว
Mac ทุกรุ่นที่ใช้ Apple M1 ในตอนนี้รองรับการต่อจอนอกผ่าน Thunderbolt ได้เพียงจอเดียวเท่านั้น ซึ่งอันนี้ Apple ได้บอกไว้ชัดเจนในหน้ารายละเอียดของอุปกรณ์ แต่หากเป็น Mac Intel จะรองรับการต่อออกจอนอกได้มากที่สุด 2 จอ เฉพาะจอความละเอียด 4K แต่หากมากกว่า 4K ขึ้นไปก็ได้จอเดียวเช่นกัน
อีกปัญหาจากการต่อจอนอก ทางผู้ทดสอบพบว่า Mac Apple M1 นั้นมีปัญหาเฟรมเรตตกในบางครั้ง โดยทดสอบผ่านการต่อจอ Pro XDR Display โดยเฉพาะในการเปิดใช้งาน Launchpad ซึ่งไม่พบปัญหานี้ใน Mac ที่เป็น Intel
แต่ถ้าเป็น Mac Mini M1 จะพิเศษกว่าหน่อย เพราะสามารถต่อได้ 2 จอ โดยต่อผ่าน HDMI จอหนึ่ง และต่อกับ Thunderbolt อีกจอหนึ่ง
2. พอร์ต USB-C เพียง 2 พอร์ต
ก็น่าจะเป็นปัญหาของรุ่นแรก สำหรับสายงานโหดที่ต้องการใช้งานพอร์ตเยอะ ๆ ก็อาจจะรู้สึกอึดอัดไม่น้อยกับ Mac เพียงสองพอร์ต แต่วิธีนี้แก้ไขได้ด้วยการเสียเงินซื้อฮับมาต่อเพิ่ม อย่างกรณี Mac mini ที่มีพอร์ต Thunderbolt Controller สองพอร์ต ซึ่งเป็นพอร์ต Thunderbolt 4 โดยแต่ละพอร์ตของ Thunderbolt 4 นั้นรองรับการต่อฮับเป็น USB-C เพิ่มอีกช่องละสองพอร์ต นั่นหมายความว่า หากเราซื้อฮับแบบพิเศษมาต่อเพิ่ม เราก็จะได้พอร์ต USB-C เพิ่มรวมเป็นทั้งหมด 4 พอร์ตครับ
แต่ฮับ Thunderbolt 4 นี่ก็ราคาไม่เบาเลย แถมน่าจะหาในไทยยากด้วย ใครอยากได้แบบ 4 พอร์ตจบ ๆ ในเครื่องเดียวก็ต้องรอดูรุ่นหน้าล่ะครับ
3. ความเร็วในการต่ออุปกรณ์ภายนอกช้ากว่า Intel
ในการทดสอบพบว่าหากเราเชื่อมต่อกับหน่วยความจุภายนอก (เช่น External Harddisk) นั้นจะเห็นชัดเลยว่าความเร็วในการอ่าน/เขียนดิสก์นั้นช้ากว่ารุ่น Intel อย่างชัดเจน ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นความตั้งใจของ Apple ที่ต้องการทำให้ช้ากว่า หรือเป็นบั๊กของระบบ หรือเป็นข้อจำกัดของ Controller USB 4.0 ในตัวชิป M1 ที่ทำได้แค่นี้
4. ปลั๊กอินเสริมการตัดต่อวิดีโอยังไม่รองรับเยอะ
ถึงแม้ว่า Final Cut Pro จะแสดงแสนยานุภาพออกมาได้โหดจน Intel ต้องมุดดินหนี แต่เนื่องจาก Apple M1 นั้นเป็นของใหม่ ปัญหาสำหรับใครที่ต้องการปลั๊กอินมาใช้งานอย่าง motion vfx, m callout ก็ยังไม่รองรับการทำงานร่วมกับ Apple M1 เพราะฉะนั้นหากคิดว่างานที่เราทำต้องใช้ของเสริมเยอะก็อย่าลืมหารายละเอียดซอฟต์แวร์ที่รองรับและไม่รองรับกันก่อนนะครับ
5. คุณภาพ Encode วิดีโอแย่กว่า Intel
ยังอยู่ในส่วนของวิดีโอ แน่นอนว่าการ Encode วิดีโอบนอุปกรณ์ Apple M1 นั้นเร็วแรงกว่า Intel แบบไม่ต้องสงสัย แต่มีผู้ใช้งานรายงานว่าคุณภาพที่ได้ออกมานั้นกลับแย่กว่าของ Intel ซึ่งในส่วนนี้เป็นเพียงรายงานจากผู้ใช้งานบางคน ทางผู้ทดสอบบอกว่าจะทำการทดสอบเพิ่มเติมแล้วจะเพิ่มรายละเอียดในภายหลัง
ต้องอธิบายว่าในชิปของ Intel จะมีฟังก์ชันที่เรียกว่า Intel Quick Sync Video ซึ่งเป็น Encoder ที่อยู่ในชิป Intel ตั้งแต่ Sandy Bridge ปี 2011 ซึ่งทำให้การเข้ารหัสและถอดรหัสวิดีโอทำได้เร็วมาก และเจ้า Quick Sync นี้ก็ได้รับการอัปเดตมาเรื่อยๆ เพื่อให้รองรับรูปแบบวิดีโอใหม่ๆ จึงทำให้พอเข้าใจว่า Encoder ตัวใหม่ในชิป M1 นั้นยังต้องได้รับการจูนเรื่องประสิทธิภาพอีกหน่อย
แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่ต้องการคุณภาพวิดีโอสูงจริงๆ จะไม่เลือกใช้ Encoder ในตัวซีพียูอยู่ดี แต่จะใช้ซอฟต์แวร์ในการเข้ารหัสอย่าง x264 หรือ x265 ซึ่งใช้พลังในซีพียูในการเข้ารหัสเพียวๆ ผลคือทำงานช้ากว่ามาก แต่ก็ให้คุณภาพที่สูงกว่า
6. แอปของ iOS ยังลงไม่เยอะ
ถึงแม้ Mac รุ่นใหม่จะมาพร้อมกับ Apple M1 ซึ่งเป็นชิปประมวลผล ARM ซึ่งมีข้อดีคือสามารถรันแอปจากแพลตฟอร์มของอุปกรณ์พกพาอย่าง iPhone และ iPad ได้ แต่ในความเป็นจริงบน Mac App Store นั้นยังไม่มีแอปหรือเกมจากฝั่งของ iOS ทุกตัว ต้องอาศัยโปรแกรมช่วยในการติดตั้งซึ่งออกจะยุ่งยากไปเสียหน่อย
7. ลาก่อน Windows
จากการกระโดดจาก Intel มาใช้ชิปประมวลผล ARM ทำให้เราไม่สามารถติดตั้ง Windows บน Mac ได้อีกต่อไป (อย่างน้อยก็ตอนนี้) ผลที่ตามมาคือเราไม่สามารถใช้งาน Windows 10 รวมถึงโปรแกรมของฝั่ง Windows ซึ่งอาจเป็นปัญหาขัดใจสำหรับหลายคนที่มีความจำเป็นต้องใช้งาน Windows โดย Apple บอกเองว่าอุปกรณ์นั้นรันได้ แต่ขึ้นอยู่กับ Microsoft จะยอมหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้มีนักพัฒนาสามารถติดตั้ง Windows 10 แบบ Virtual ได้แล้ว อนาคตก็ดูมีความเป็นไปได้อยู่เหมือนกันครับ
8. ปัญหา Wi-Fi
Mac พร้อม Apple M1 รองรับการเชื่อมต่อ Wi-Fi 6 ซึ่งการทดสอบพบว่าสามารถทำความเร็วได้มากถึง 600Mbps ในขณะที่ Wi-Fi 5 บน Mac Intel นั้นทำความเร็วได้ราว ๆ 300Mbps เท่านั้น อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า Mac Apple M1 นั้นมีปัญหาตัดการเชื่อมต่อด้วยตัวเองโดยอัตโนมัติ ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่ชัดเจนว่าเป็นที่ซอฟต์แวร์หรือสาเหตุใดกันแน่
9. ปัญหาของ Bluetooth
Mac ที่ใช้ Apple M1 ดูเหมือนจะมีปัญหากับการเชื่อมต่อ Bluetooth เข้ากับอุปกรณ์ต่าง ๆ อย่างเช่นเมาส์ไร้สาย ซึ่งปัญหานี้ไม่ได้เกิดเฉพาะเพียงผู้ทดสอบเท่านั้น แต่ยังมีรายงานจากผู้ใช้งานหลาย ๆ คนด้วย ปัญหานี้ก็อาจจะเกิดจากซอฟต์แวร์ซึ่งต้องรอ Apple แก้ต่อไปครับ
10. รอบพัดลมต่ำ
ถึงแม้ว่า Apple M1 จะใช้พลังงานต่ำ มีประสิทธิภาพสูง แต่หากมีการใช้งานหนัก ๆ ก็ทำให้เกิดความร้อนขึ้นได้เหมือนกัน โดยการทดสอบแบบหนักพบว่า MacBook Pro – Apple M1 นั้นมีอุณหภูมิที่เด้งไปถึง 92 องศาเซลเซียสได้เลยเหมือนกัน แต่ปัญหาคือ Apple ดันเลือกที่จะตั้งรอบพัดลมให้ต่ำ เพื่อให้เกิดเสียงรบกวนน้อยที่สุด ปัญหาที่ตามมาคือความร้อนจะระบายได้ช้าลง ส่งผลต่อประสิทธิภาพโดยรวมของเครื่องอยู่ดี
แต่หากใครไม่ได้ใช้งานหนักขนาดนั้นก็ดูไม่ค่อยน่าเป็นห่วงเท่าไหร่ครับ ส่วนคนใช้ Macbook Air ไม่ต้องห่วงเลย เพราะเราไม่มีพัดลม
หมดแล้วกับ 10 ปัญหาของ Apple M1 ที่เจอในขณะนี้ หากใครรับได้กับ 10 ปัญหาข้างต้น Apple M1 ถือว่าเป็นตัวเลือกที่ดีมาก แต่หากใครรู้สึกว่ายังไม่น่าเสี่ยง Mac ที่ใช้ Intel ก็ดูเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าครับ
อ้างอิง Max Tech
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส