จากกรณีที่ Taylor Swift เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงแอปเปิ้ลเรื่อง Apple Music จนตกเป็นข่าวเกรียวกราวไปทั่วโลก ทำให้ Eddy Cue ผู้บริหารแอปเปิ้ลต้องออกมากลับลำในไม่ถึง 24 ชั่วโมงว่าแอปเปิ้ลจะจ่ายเงินให้ศิลปินแม้เป็นช่วงทดลองฟัง ซึ่งก็สร้างเสียงเชียร์ให้ทั้งอนาคตตัวแม่ของวงการอย่าง Taylor Swift และ Apple ที่แก้ไขสถานการณ์ได้รวดเร็ว แต่ Tom Conrad อดีตผู้บริหาร Pandora บริการฟังเพลงผ่านอินเทอร์เน็ตเห็นต่างออกไปว่าเรื่องนี้เป็นละครของ Swift กับ Apple แน่ๆ
Tom Conrad แสดงความคิดเห็นผ่านทวิตเตอร์ 8 ข้อความ ซึ่งสรุปใจความว่า
บริการฟังเพลงผ่านอินเทอร์เน็ตอื่นๆ อย่าง Spotify, Youtube, Pandora ล้วนจ่ายเงินให้ศิลปินในช่วงทดลองฟังทั้งนั้น เมื่อแอปเปิ้ลหันมาจ่ายเงินให้ศิลปินในช่วงทดลองจึงไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรเลย และตรรกะของ Swift นั้นแปลกๆ คือ Swift ดึงอัลบั้มล่าสุดออกจาก Spotify ไม่ใช่เพราะเธอไม่ได้รับเงินจากบริการ แต่เพราะว่าเธอรู้สึกว่าการฟังเพลงผ่านบริการพวกนี้ที่ฟังฟรี หรือค่าฟังที่ถูกแสนถูกเป็นการ “ลดคุณค่าของดนตรี” ทว่า Swift กลับไม่เคยดึงเพลงออกจาก Youtube ที่ก็นับเป็นบริการฟังเพลงยอดนิยมของโลกเหมือนกัน และชื่อเสียงของ Swift นั้นก็เกิดจากวิทยุที่ก็ถือเป็นบริการฟรีที่ไม่จ่ายเงินให้ศิลปินสักแดง เรื่องของ Swift กับ Apple จึงเหมือนละครที่สร้างขึ้นมา
2/ Swift took her new album off Spotify not because she's not paid, but because she feels their free service "devalues music"
— Tom Conrad (@tconrad) June 22, 2015
4/ Swift's career was built on terrestrial radio play, which is a free service AND doesn't pay recording artists a dime.
— Tom Conrad (@tconrad) June 22, 2015
6/ Reminder: Apple uses music to make billions off hardware. Artists see nothing from this.
— Tom Conrad (@tconrad) June 22, 2015
8/ My point is this: there is too much animus between artists & Silicon Valley. We shouldn't herald this move as progress. It's status quo.
— Tom Conrad (@tconrad) June 22, 2015
เรื่องความเห็นแย้งก็เป็นปกติวิสัยของมนุษย์นะครับ แต่กรณี Conrad ยกตัวอย่างว่าทำไม Swift ถึงไม่เอาเพลงออกจาก Youtube หรือวิทยุบ้าง เว็บแบไต๋ก็ขอเห็นแย้งว่า Youtube และบริการฟังเพลงผ่านอินเทอร์เน็ตนั้นมีวัตถุประสงค์การใช้งานต่างกัน คือ Youtube จะมีส่วนของความเป็นช่องทางโปรโมตเพลงสูงกว่าบริการฟังเพลงในอินเทอร์เน็ต Swift จึงเลือกที่จะไม่นำเพลงออกจาก Youtube เพราะเธอควบคุมได้ว่าจะให้ฟังกี่เพลง โปรโมทกี่เพลง เพื่อที่ผู้ฟังจะไปซื้ออัลบั้มเต็มต่อ ส่วนบริการฟังเพลงผ่านอินเทอร์เน็ตนี้ ถ้าได้ฟังก็จะไม่ไปซื้ออัลบั้มเต็มกันแล้ว นอกจากนี้สถานีวิทยุก็ถือเป็นการโปรโมทเพลงเช่นกัน ผู้ฟังเลือกไม่ได้ว่าต้องการฟังเพลงอะไร ก็ถือเป็นสื่อคนละรูปแบบกับ Music Streaming เช่นกัน
แต่เรื่องที่ว่า Swift กับ Apple เล่นละครกัน ก็อาจจะเป็นไปได้เหมือนกันนะครับ เพราะหลังจากข่าวนี้ ทำให้คนรู้จัก Apple Music ขึ้นอีกเยอะเลย
ที่มา: Time