มาแล้ว! Raspberry Pi Pico บอร์ดไมโครคอนโทรลเลอร์สำหรับผู้ที่ต้องการสร้างโพรเจกต์เขียนโปรแกรมควบคุมไมโครคอนโทรลเลอร์เพื่อติดต่อและทำงานกับอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ที่เชื่อมต่ออยู่ภายนอก ที่สำคัญ คือ บอร์ดตัวนี้ใช้ชิปไมโครคอนโทรลเลอร์ RP2040 ที่ Raspberry Pi Foundation ได้ออกแบบขึ้นเอง ซึ่งช่วยให้บอร์ดมีราคาถูกและยังสามารถควบคุมอุปกรณ์ต่าง ๆ บนบอร์ดได้ดียิ่งขึ้น
Raspberry Pi Pico ใช้ชิป RP2040 มีโพรเซสเซอร์ Arm แบบ Dual-core ทำงานที่ 133MHz, SRAM 264KB, หน่วยความจำแฟลชอยู่บนบอร์ด 2 MB, 26 GPIO Pins, ADC อินพุตรับสัญญาณแรงดันแอนะล็อก 3 อินพุต, พอร์ต micro-USB, มีโหมดประหยัดพลังงาน, เซนเซอร์วัดอุณหภูมิ, ชิปนาฬิกาและตัวจับเวลา แต่ไม่มี Wi-Fi หรือบลูทูทสำหรับเชื่อมต่อไร้สาย ที่สำคัญบอร์ดชุดนี้ราคาอยู่ที่ 4 USD (120 บาท) เท่านั้น
Raspberry Pi Pico มีพอร์ตอินพุต / เอาต์พุตสำหรับเชื่อมต่ออุปกรณ์ได้อย่างมากมาย เช่น LED neopixels ที่ใช้กับ GPIO Pins, PicoLights ใช้กับ PIO, Balloon Tracker ใช้ PIO, แสดงผลบนจอทีวีผ่าน DVI ที่ใช้กับ GPIO, แผง LED Hub 75 Panel ใช้กับ PIO, Pico PIO Buzz (บัซเซอร์) ใช้กับ PIO และขยายการเชื่อมต่อไปยังอุปกรณ์ได้อย่างมากมาย เช่น ชุดขับกำลังมอเตอร์ จอ LCD และอื่น ๆ ด้วยแผง Pico Explorer Base
Raspberry Pi Pico เป็นบอร์ดขนาดเล็กใช้พลังงานต่ำจึงสามารถต่อวงจรเข้ากับเบรดบอร์ดและรับพลังงานจากแบตเตอรีขนาดเล็ก สามารถใช้งานได้หลายสัปดาห์หรือเป็นเดือน ที่สำคัญสามารถป้อนโค้ดควบคุมการทำงานเข้าไปไว้ในหน่วยความจำได้โดยตรง ด้วยการเสียบบอร์ดเข้ากับคอมพิวเตอร์ผ่านพอร์ต micro-USB แล้วบูตเครื่อง จากนั้นจะแสดงไดรฟ์หน่วยความจำภายนอกอยู่ในหน้าจอของคอมพิวเตอร์ แล้วให้ลากไฟล์โปรแกรมเข้าไปเก็บไว้ในหน่วยความจำได้อย่างง่ายดาย
การเขียนโปรแกรมจะใช้ภาษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ยอดนิยม คือ ภาษา C และ MicroPython ที่พัฒนาใช้สำหรับไมโครคอนโทรลเลอร์ ซึ่งใครที่ชื่นชอบการสร้างโครงงานการเชื่อมต่อและควบคุมอุปกรณ์ต่าง ๆ สามารถเรียนรู้ได้จากเอกสารที่มีให้ศึกษาได้อย่างมาก ในประเทศไทยสั่งซื้อได้แล้วที่ th.cytron.io
ที่มา : techcrunch และ raspberrypi
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส