Android และ iOS เป็นสองระบบปฏิบัติการครองโลกไปแล้ว (รอระบบที่ 3: HarmonyOS) แต่สำหรับใครที่กำลังเลือกระหว่าง Android และ iOS โดยวัตถุประสงค์สำคัญคือเรื่องความปลอดภัยของระบบ มาดูข้อเปรียบเทียบของทั้ง 2 ระบบปฏิบัติการนี้ในปี 2021 กันครับ โดยข้อมูลมาจาก NordVPN

ระบบความปลอดภัยของร้านค้าแอป

สำหรับฝั่ง Apple นั้นมีการตรวจสอบแอปพลิเคชันที่ถูกอัปโหลดขึ้นไปบน App Store อย่างใกล้ชิด ซึ่งช่วยแก้ปัญหาและลดจำนวนแอปที่มีมัลแวร์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

แต่สำหรับฝั่ง Android หรือ Play Store นั้น เนื่องจากเป็นระบบเปิด ข้อดีคือมีแอปให้เลือกใช้งานมากกว่า iOS อย่างไม่ต้องสงสัย แต่ก็กลายเป็นช่องโหว่ให้ผู้ที่ไม่หวังดี อัปโหลดแอปพลิเคชันที่มีมัลแวร์แฝงเข้าไปได้ หลาย ๆ ครั้งมีรายงานค้นพบแอปพลิเคชันที่มียอดดาวน์โหลดนับล้าน แต่หลังจากการตรวจสอบพบว่าแอปเหล่านั้นมีมัลแวร์แฝงอยู่ด้วย และที่สำคัญคือยังสามารถติดตั้งแอปพลิเคชันภายนอก Play Store ได้อีกด้วย ซึ่งหากคัดไม่ดีพอก็อาจได้ .apk ที่มีมัลแวร์แฝงเข้ามาได้

ผู้ชนะ: iOS

การออกแบบและผลิตอุปกรณ์

Apple มีการออกแบบซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์เองทั้งหมด (สั่งผลิตเอาอย่างเดียว) ทำให้ Apple สามารถควบคุมความเข้ากันและการทำงานได้อย่างดีที่สุด แม้ว่าคุณสมบัติหลาย ๆ อย่างจะตามอุปกรณ์ Android มากก็ตาม แต่เนื่องจากการออกแบบทั้งซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์เองทำให้ Apple จัดการเรื่องช่องโหว่ความปลอดภัยได้ดีกว่า

ส่วนฝั่ง Android นั้น ด้วยความที่พื้นฐานเป็นระบบเปิด สามารถติดตั้งระบบปฏิบัติการได้ในอุปกรณ์หลายประเภท ทำให้เราพบทั้งอุปกรณ์ที่มีระบบที่ทำงานเข้ากันได้ดีทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ หรืออุปกรณ์บางชิ้นกลับทำงานเข้ากันได้ไม่ดีมากพอ ก็ทำให้อุปกรณ์บางชิ้นอาจมีช่องโหว่ด้านความปลอดภัยที่เกิดขึ้นจากข้อดีที่เป็นระบบเปิดด้วยนั่นเอง

ผู้ชนะ: iOS

ความปลอดภัยของ Source Code

Apple มีการป้องกัน Source Code ของตัวเองอย่างใกล้ชิด ด้วยความที่ iOS เป็นระบบปิดทำให้แฮกเกอร์หาช่องโหว่ของระบบได้ยาก ในขณะที่ Android เป็นระบบเปิดหรือ Open Source ก็ตรงกันข้ามกับ iOS เลย แต่ข้อดีคือนักพัฒนาสามารถเข้าถึงได้ง่ายกว่า

แต่ถึงแม้ว่าจะเป็นระบบเปิด Google ก็มีทีมที่ตรวจสอบความปลอดภัยของระบบเหมือนกัน และนอกจากการตรวจสอบความปลอดภัยโดยบริษัทเองแล้ว Google ยังมีรางวัลให้สำหรับใครที่หาช่องโหว่บน Android เจออีกด้วย

สำหรับเรื่องความปลอดภัยของ Source Code นั้น Apple และ Google ทำได้ดีทั้งคู่ครับ

ความนิยมของอุปกรณ์

ยิ่งความนิยมของอุปกรณ์สูงมากเท่าไหร่ ยิ่งมีคนต้องการแฮกมากเท่านั้น เหมือน Windows กับ macOS ซึ่งเป็นตั้งแต่อดีตแล้วที่ Windows จะมีไวรัสหรือมัลแวร์มากกว่า macOS เสมอเนื่องจาก Windows ยังครองส่วนแบ่งระบบปฏิบัติการมากที่สุดในโลก

iOS และ Android ก็เช่นเดียวกัน เนื่องจาก Android เป็นระบบปฏิบัติการแบบเปิด ทุกแบรนด์ยกเว้น Apple นำไปใช้งาน ทำให้มีส่วนแบ่งตลาดมากกว่า iOS ส่งผลให้แฮกเกอร์ย่อมเล็ง Android มากกว่า

ระดับภัยคุกคาม

ความเป็น Android ทำให้แฮกเกอร์หาช่องโหว่ได้ง่ายกว่า

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า iOS เป็นระบบปิด ทำให้ยากสำหรับแฮกเกอร์ที่จะหาทางเจาะระบบ ในขณะที่ Android นั้นตรงกันข้ามกับ iOS ด้วยความที่เป็นระบบเปิด ทุกคนซึ่งรวมถึงแฮกเกอร์สามารถดู Source Code เพื่อหาช่องโหว่สำหรับการพัฒนาแมลแวร์เพื่อเจาะระบบได้ ทำให้ Android มีระดับภัยคุกคามที่สูงกว่า iOS

การออกอัปเดตระบบความปลอดภัย

ทั้ง iOS และ Android มีอัปเดตระบบความปลอดภัยจากผู้ผลิตมายาวนาน แต่ทั้ง 2 ระบบมีการอัปเดตที่แตกต่างกัน สำหรับ iOS จะได้รับอัปเดตจาก Apple โดยตรง ทุกอุปกรณ์ได้รับอัปเดตพร้อมกัน สำหรับอุปกรณ์ที่ตกรุ่นไปแล้ว Apple ก็มีอัปเดตย่อยมาให้ในบางรุ่น

ในขณะที่สมาร์ตโฟน Android จะขึ้นอยู่กับผู้ผลิต นั่นหมายความว่า หากมีการค้นพบช่องโหว่ แต่ผู้ผลิตไม่ได้ปล่อยอัปเดตแพตช์ความปลอดภัยมาให้ก็อาจทำให้สมาร์ตโฟนของเราตกเป็นเป้าต่อการแฮกได้ง่าย ซึ่งสมาร์ตโฟน Pixel จะได้เปรียบในส่วนนี้เพราะได้รับอัปเดตตรงจาก Google

ระดับภัยคุกคามหรือระดับการถูกโจมตีจากแฮกเกอร์นั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย โดยเฉพาะปัจจัยที่ผู้ใช้งานอย่างเรา ๆ ไม่สามารถควบคุมได้อย่างการอัปเดตความปลอดภัยที่สอดคล้องกับเวลา อย่างหากมีการพบช่องโหว่แล้วยังไม่ได้อัปเดตจากผู้ผลิตก็ย่อมไม่ปลอดภัยเป็นธรรมดา

สรุป

จากที่กล่าวมาเหมือนว่า Android จะมีช่องโหว่ด้านความปลอดภัยที่สูงกว่า iOS แต่ David Kleidermacher หัวหน้าฝ่ายระบบความปลอดภัยของ Android กล่าวว่า ระดับความปลอดภัยของ Android นั้นเทียบเท่ากับ iOS แล้ว แต่ฝั่ง iOS ก็ไม่ได้หยุดพัฒนาเรื่องความปลอดภัยเช่นเดียวกัน อย่าง iOS 14 ก็ยกระดับความปลอดภัยให้ดีขึ้นกว่าเดิมเยอะ

สรุปแล้วปัญหาที่ Android จะมีช่องโหว่มากกว่า iOS คือการอัปเดต Security Patch ที่ต้องขึ้นอยู่กับผู้ผลิตจะมีอัปเดตให้หรือไม่ และสอง เนื่องจากความเป็นระบบเปิด แม้แต่ Play Store ก็ยังมีมัลแวร์แฝงเนียน ๆ ในบางแอป (ตัวอย่าง) และยิ่งหากเราติดตั้งแอป .apk จากแหล่งภายนอกที่ไม่น่าเชื่อถือก็อาจทำให้ได้มัลแวร์มาเป็นของแถมด้วย อย่างกรณีล่าสุดพบมัลแวร์ตัวใหม่ที่แฝงมาจากแอปของแหล่งอื่น ๆ นอกจาก Play Store เหมือนกัน

อ้างอิง NordVPN

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส