Google ปรับผังองค์กรครั้งใหญ่ โดยตั้งบริษัทใหม่ชื่อว่า Alphabet ขึ้นมาเป็นบริษัทแม่ที่ถือหุ้นในธุรกิจย่อยๆ ของ Google โดย Larry Page และ Sergey Brin จะย้ายไปบริหารที่ Alphabet แทน
เหตุผลของการปรับโครงสร้างองค์กรครั้งนี้คือต้องการทำให้การบริหารงานยืดหยุ่นขึ้น และทำให้ธุรกิจย่อยมีขนาดเล็กลง โดย Alphabet จะทำหน้าที่เป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ถือหุ้นบริษัทย่อย และบริหารภาพรวมทั้งหมด ส่วนบริษัทย่อยๆ ก็จะมี CEO เป็นของตัวเองเพื่อดูแลงานในส่วนของตัวเอง ซึ่ง Larry Page จะขึ้นไปเป็น CEO ที่ Alphabet ส่วน Sergey Brin ก็จะไปประธานบริษัท Alphabet และ Eric Schmidt ก็จะเป็น Chairman ที่บริษัทใหม่นี้เช่นกัน
ภายใต้ Alphabet Google โฉมใหม่ที่เล็กลงนั้นจะดูแล Google Search, Android, Youtube, Google Ad, Google Maps โดยมี Sundar Pichai ขึ้นเป็น CEO ของกูเกิ้ล ในขณะที่ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ไม่ได้ข้องเกี่ยวกับธุรกิจอินเทอร์เน็ตมากนัก ก็จะแตกเป็นบริษัทย่อยที่มีอำนาจการบริหารเป็นของตัวเอง มี CEO เป็นของตัวเอง ซึ่งก็น่าจะมีหน่วยธุรกิจอย่าง
- Smart Contact Lens: คอนแทคเลนส์ที่สามารถตรวจสุขภาพผู้ใช้ได้
- Calico: โครงการวิจัยเรื่องอายุและโรค
- Nest: เซนเซอร์ในบ้าน
- Google Ventures บริษัทลงทุนของกูเกิ้ล
- Google Fiber บริการ ISP อินเทอร์เน็ต
- Google X lab บริษัทวิจัยเทคโนโลยี
การปรับโครงสร้างครั้งนี้เหมือนการรีเซ็ตผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้กลับสู่ความเป็น Startup อีกครั้ง ตัวบริการดั่งเดิมของ Google ก็โฟกัสเรื่องอินเทอร์เน็ต ในขณะที่เรื่องอื่นๆ ที่เป็นโครงการระยะยาวก็จะดำเนินงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ต้องมาคอยตอบคำถามว่าผลิตภัณฑ์ล้ำยุคจะสร้างประโยชน์ให้ Google ได้อย่างไรเพราะแยกคนละบริษัทกันแล้ว นักลงทุนก็เห็นภาพการดำเนินงานชัดขึ้น ผู้ก่อตั้งบริษัทก็จะมีเวลาเงยหน้าจากงานประจำ มานั่งคิดถึงวิสัยทัศน์ของบริษัทโดยรวมมากขึ้นด้วย
โดยผู้ถือหุ้นกูเกิ้ลเดิมจะถูกเปลี่ยนไปถือหุ้นของ Alphabet โดยอัตโนมัติ โดยใช้ตัวย่อ GOOGL ในตลาดหุ้นเหมือนเดิม ซึ่งการประกาศนี้ได้ผลตอบรับจากนักลงทุนเป็นบวก หุ้นของกูเกิ้ลขึ้นไปอีก 5%
โดยคำว่า Alphabet นั้นนอกจากจะแปลว่าเรียงตามลำดับอักษรแล้ว ยังเป็นการผสมคำระหว่าง Alpha ที่เป็นค่าผลตอบแทนเปรียบเทียบกับตลาด และ bet ที่แปลว่าความเสี่ยง หรือการเดิมพันกับการลงทุนนั้นเอง ใครอยากเห็น blog เปิดตัวบริษัทเท่ๆ ของ Larry Page ก็แวะไปเยี่ยมชมได้ที่เว็บของ Alphabet ที่มีโดเมนสุดแนวอย่าง abc.xyz
ที่มา: The Guardian