Google เสิร์ชเอนจินอดยนิยมที่ไม่ว่าใครจะหาข้อมูลอะไรก็ต้องหาผ่าน Google ไว้ก่อนเสมอ แต่จากการศึกษาล่าสุดพบว่าผู้ใช้งานที่เข้าเว็บไซต์ Google พบว่า กว่า 65% ไม่ได้คลิกลิงก์อะไรต่อหลังจากค้นหาไปแล้ว

อ้างอิงข้อมูลจาก แรนด์ ฟิชคิน (Rand Fishkin) ซีอีโอของ SparkToro พบว่า มีผู้ใช้งานจำนวนมากถึง 65% ที่เข้าเว็บไซต์ Google แล้วค้นหา แต่ไม่ได้คลิกลิงก์อะไรต่อ เพิ่มขึ้นจากปี 2019 ซึ่งพบว่าในปีนั้นมีผู้ใช้งานที่ค้นหาสิ่งต่าง ๆ ใน Google แต่พบว่ามีผู้ใช้งานที่ไม่ได้คลิกลิงก์อะไรต่ออยู่ที่ 50% เท่านั้น เท่ากับว่าปี 2020 นั้นมีตัวเลขพฤติกรรมที่ไม่ได้ทำอะไรต่อเพิ่มขึ้นถึง 15% อย่างไรก็ตาม ฟิชคินตั้งข้อสังเกตว่าระหว่างปี 2019 และ 2020 อาจเทียบกันได้ยากนักเพราะใช้แหล่งข้อมูลที่แตกต่างกัน

ฟิชคินกล่าวเพิ่มเติมว่าในปี 2020 นั้นยอดผู้ใช้งานเสิร์ชเอนจินมีจำนวนสูงขึ้นมากอย่างเห็นได้ชัด ส่วนหนึ่งก็เพราะทุกคนต้องใช้เวลาไปกับหน้าจอมากขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา

นักวิเคราะห์ระบุว่า อาจเป็นความตั้งใจของ Google ที่จะดึงคนให้อยู่กับ Google ได้มากที่สุด โดยการแสดงเนื้อหาบางส่วนบนหน้าเว็บไซต์ www.google.com แทนเลย เช่น หากเราค้นหาคำว่า Covid-19 deaths หรือจำนวนผู้เสียชีวิตจาก Covid-19 ก็จะมีเนื้อหาบางส่วนปรากฏขึ้นมาโดยผู้ใช้งานไม่จำเป็ตนต้องคลิกลิงก์เข้าไปอ่านเพิ่มเติม โดยมีการดึงข้อมูลบางส่วนจากเว็บไซต์ต่าง ๆ เช่น Wikipedia หรือ WHO เป็นต้น

ฟิชคินกล่าวเพิ่มเติมว่า “ในช่วงสามปีที่ผ่านมา Google ได้รับประโยชน์อย่างล้นหลามจากปริมาณการค้นหาที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก และเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสทำให้ผู้คนหันมาใช้อุปกรณ์อย่างสมาร์ตโฟน แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์กันมากขึ้น แนวโน้มที่ผู้คนจะค้นหาโดยไม่กดลิงก์อะไรต่อ (หรือ zero-click) ก็จะมากขึ้นด้วย”

ด้าน Google ก็ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อการศึกษาดังกล่าวว่า สาเหตุที่ Zero-click มีมากขึ้นกว่าเดิมเพราะ “ผู้คนมองหาข้อเท็จจริงแบบเร่งด่วน” หรือแค่ค้นหาแบบอ่านได้ที่หัวข่าว “ผู้คนปรับเปลี่ยนข้อความค้นหาใหม่” และ “การค้นหาที่สามารถเข้าแอปพลิเคชันได้โดยตรง”

“แม้ว่าเราจะแสดงลิงก์เว็บไซต์จากคำหรือข้อความที่ถูกค้นหาเป็นจำนวนมากในปัจจุบัน เรายังต้องการสร้างคุณลักษณะใหม่ที่จัดระเบียบข้อมูลในรูปแบบที่เป็นประโยชน์มากกว่าเพียงแค่แสดงลิงก์ขึ้นมาเฉย ๆ ” – Google กล่าว

อ้างอิง BusinessInsider