เลโก้จะไม่ได้เป็นเพียงแค่ของเล่นอีกต่อไป เมื่อนักออกแบบหลายต่อหลายคนได้นำตัวต่อเลโก้ซึ่งเป็นของเล่นชิ้นโปรดของเด็กๆนั้น มาใช้เป็นส่วนประกอบของนวัตกรรมเพื่อคนพิการกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องพิมพ์อักษรเบรลล์สำหรับคนตาบอดซึ่งประดิษฐ์ขึ้นจากตัวต่อธีมหุ่นยนต์ หรือล่าสุดนี้ก็ได้มีการใช้เลโก้ในการพัฒนาแขนเทียมเพื่อสร้างรอยยิ้มให้กับเด็กๆที่ประสบปัญหาพิการ
เจ้าแขนเทียมนี้มีชื่อว่า ‘IKO Creative Prosthetic System’ พัฒนาขึ้นโดย Carlos Torres นักออกแบบชาวโคลัมเบีย ร่วมกับทีมนักพัฒนาและวิจัยแห่ง Lego Future Lab ประเทศเดนมาร์ก และองค์กรฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกาย CIREC ในโคลัมเบีย โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้เด็กพิการได้แสดงความคิดสร้างสรรค์และถ่ายทอดจินตนาการผ่านทางตัวต่อเลโก้ ในการปรับแต่งแขนเทียมของตัวเองในรูปแบบต่างๆได้ตามใจชอบ
แขนเทียมนี้ประกอบด้วย 3 ส่วนหลักที่นำมาประกอบกัน คือ ส่วนแรก (ส่วนที่ติดกับแขน) จะเป็นชิ้นส่วนอินเตอร์เฟซประกอบด้วยแบตเตอรี่, หน่วยประมวลผลและเซ็นเซอร์ควบคุม 2 ตัวที่จะจับการเคลื่อนไหวของแขนส่วนบนและส่งสัญญาณไปยังส่วนที่สอง (ส่วนกลาง) ซึ่งมีส่วนประกอบหลักคือมอเตอร์ที่จะรับสัญญาณและสั่งงานการเคลื่อนไหวของส่วนสุดท้าย (ส่วนมือ) ซึ่งเป็นส่วนที่เด็กๆ สามารถใช้ตัวต่อเลโก้ต่อเป็นรูปแบบตามต้องการได้นั่นเอง เรียกได้ว่าสามารถใช้เป็นแบบแขนเทียมแบบปกติ หรือจะปรับเปลี่ยนให้เป็นของเล่นก็ได้
ดีใจที่เห็นเด็กๆกลับมามีรอยยิ้มอีกครั้ง ^__^
ที่มา : twistedsifter