เชื่อว่าหลาย ๆ ท่านน่าจะจำกันได้ว่าเมื่อคืนวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมาในศึก ชาวเน็ตลั่นกรองรบเตรียมถล่ม ICT และเว็บไซต์ต่าง ๆ ของรัฐฯ ที่ผ่านมาว่ามีผลกระทบขนาดไหนถ้าเกิดทางรัฐฯ ทำ “Single Gateway” ขึ้นมาโดยไม่ได้ศึกษาข้อมูลให้ดีก่อน
ซึ่งงานนี้ทางไทยรัฐทีวีก็ได้มีการถกถึงประเด็น “Single Gateway” นี้ผ่าน “ไทยรัฐนิวส์โชว์” นำทีมโดยหนุ่ย พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ พิธีกร และแขกรับเชิญอีก 3 ท่านคือ คุณป้อม ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ นายกสมาคมผู้ประกอบการพานิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย , คุณสมศักดิ์ ศรีประยูรสกุล Technology Director และคุณภูมิจิต ศิระวงศ์ประเสริฐ ประธานชมรมผู้ประกอบการธุรกิจโฮสติ้ง ได้มาจับเข่าคุยกันถึงผลกระทบและทางออกที่สามารถทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายเกิดผลกระทบน้อยที่สุด
Single Gateway มีข้อดีอะไรบ้าง ?
ซึ่งเรื่อง Single Gateway นี้ถือว่าเป็นเรื่องที่โด่งดังมากในประเทศไทยโดยมีผู้ Tweet Hashtag นี้ถึงกว่า 600,000 ครั้งบน Twitter ซึ่งยังไม่รวมบน Facebook และ Social Media อื่น ๆ อีกมากมายที่ตื่นตัวในเรื่องนี้ ซึ่งแน่นอนว่าคนไทยหรือ “ชาวเน็ต” ปฏิเสธว่าไม่อยากได้ เราจึงต้องมาเปิดมุมมองกันว่าทางรัฐฯ จะคุมเนื้อหาอย่างไร และจำเป็นที่จะต้องคุมเนื้อหาหรือไม่
โดยเริ่มต้น ทางหนุ่ยพงศ์สุขก็ได้พูดคุยเกี่ยวกับปัญหาและประเด็นเรื่อง Single Gateway ว่ามันมีข้อดีอะไรบ้าง ซึ่งแน่นอนว่าข้อดีคือ “ทางรัฐฯ สามารถควบคุมดูแลเรื่องหมิ่นสถาบันหรือเหล่า Hate Speech (ถ้อยคำสร้างความเกลียดชังหรือสร้างความแตกแยก) ได้” และป้องกันในเรื่อง “เด็กติดเกม” ซึ่งเป็น 1 ในเรื่องที่ถกกันในวงกว้างว่าแท้จริงแล้ว เด็กติดเกม นั้นมันดีหรือไม่ดีกันแน่ และปัญหาเรื่องการป้องกันหากถูกโจมตีหลาย ๆ ที่พร้อมกัน ทำให้ต้องกระจายการดูแลไปหลาย ๆ จุดให้มารวมเป็นจุดเดียว และที่สำคัญเมื่อรวมเข้าไว้ด้วยกันก็จะทำให้ราคาที่ถูกลงเพราะไม่ต้องกระจายกันสร้างหลาย ๆ จุด และไม่เกิดการซ้ำซ้อนกัน โดยทุกคนเข้ามาลงทุนร่วมกันทำให้ท่อใหญ่ขึ้น
แต่ถ้ามองในมุมกลับกัน การเอา Gateway ทุกจุดมาอยู่รวมกัน เมื่อโดนโจมตีจากผู้ไม่หวังดีจำนวนมากจนล่ม ก็จะทำให้เน็ตออกต่างประเทศเป็นอัมพาตทั้งหมด
การใช้ Internet ในปัจจุบัน
ซึ่ง ณ ปัจจุบันนี้เราได้ใช้อินเทอร์เน็ตกับทุกอย่างไม่ใช่เพียงแค่ความบันเทิงเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะในเรื่องของธุรกรรมอินเทอร์เน็ต เรื่องของการคุยติดต่อสื่อสารกันผ่านธุรกิจต่าง ๆ รวมไปถึงการซื้อขายหุ้น ซึ่งถ้าเกิดล่มขึ้นมาก็จะส่งผลกระทบต่อกิจการทั้งในและต่างประเทศจำนวนมหาศาล ซึ่งลองเทียบกันง่าย ๆ ก็คือช่วงเหตุการณ์ที่ตึก CAT Tower ถูกตัดไฟเมื่อวันที่ 30 พ.ย. 56 เพียงแค่ไม่นานก็มีมูลค่าความเสียหายเกิดขึ้นมากกว่า 300 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขมหาศาลมาก ๆ แต่ถ้าเกิดเหตุการณ์นี้กับ Single Gateway ล่ะก็… มูลค่าความเสียหายก็จะไม่สามารถประเมินได้ และส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศเป็นอย่างมากจนอาจทำให้นักลงทุนไม่กล้าที่จะเดินเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยเลยก็เป็นได้
ที่มา: thairath
เหตุการณ์ชาวเน็ตรวมตัวประท้วง Single Gateway
โดยเปรียบเทียบกับเหตุการณ์เมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมาที่มีชาวเน็ตจำนวนหนึ่ง (ประมาณ 1% ของทั้งหมด) รวมตัวกันเข้าไปทำการ DDOS โดยรุมกด F5 ใส่หน้าเว็บไซต์ของทางรัฐบาลจนทำให้ล่มไปกว่า 7 แห่ง ซึ่งจริง ๆ ทางภาครัฐก็ควรที่จะต้องมีแผนรองรับในเรื่องนี้ เช่นการ Design ระบบหลังบ้านให้สามารถขยายตัวเพิ่มระบบให้ในเวลาอันสั้นเพื่อรองรับการเข้าใช้งานจำนวนมาก ซึ่งเรื่องนี้ก็สะท้อนในอีกมุมนึงว่าทางรัฐบาลจะสามารถดูแลระบบ Single Gateway ได้หรือหากเกิดการโจมตีในรูปแบบนี้ขึ้นมา
ภาค E-Commerce
และประเด็นเรื่อง E-Commerce ก็น่าสนใจเพราะทางรัฐฯ ได้ผลักดันแผนเศรษฐกิจ Digital Economy ขึ้นมา ซึ่งถ้าเกิดมี Single Gatway ขึ้นมาจริง ๆ ต่างชาติก็จะรู้สึกไม่ดีจนอาจสงผลกระทบให้ไม่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย และอาจจะย้ายการลงทุนไปที่อื่นแทนเช่นอินโดนิเซีย มาเลเซีย หรือสิงคโปร์ โดยเปรียบเทียบก็คือเหมือนเวลาเราจะขายของ แต่มีช่องทางการเดินเข้ามาได้เพียงประตูเดียวทำให้ลูกค้าที่เขามารู้สึกอึดอัดจนอาจจะไม่เข้ามาในร้านนี้อีกนั่นเอง ซึ่งทุกวันนี้จริง ๆ แล้วการที่จะเข้าเว็บในประเทศไทยจากต่างประเทศก็ช้าอยู่แล้วเป็นทุนเดิมอีกด้วย ยิ่งไปทำให้อยู่ช่องเดียวก็จะยิ่งช้าลงจนอาจทำให้คนไทยหลาย ๆ กลุ่มหนีไปทำธุรกิจในต่างประเทศแทนที่จะเป็นประเทศไทย
ถ้า Single Gateway มีจริง ๆ จะทำให้ป้องกันเรื่องของความมั่นคงได้ไหม ?
เรื่องของ Hate Speech หรือเว็บหมิ่นต่าง ๆ เชื่อว่าจะยังคงอยู่ไม่หายไปไหน เพราะว่าเว็บเหล่านี้ถ้าเขาทำการเข้ารหัสทั้งหมด ต่อให้ทาง Single Gateway สามารถดักข้อมูลได้แต่ยังไงก็จะไม่สามารถถอดความออกมาได้เช่นเดิม เพราะจำเป็นต้องใช้ Key ที่ถูกต้องจึงจะสามารถถอดรหัสได้ ซึ่งเคสนี้จะคล้าย ๆ กับทางสหรัฐอเมริกาที่นาย edward snowden ได้ทำการล้วงข้อมูลทาง CSI ว่าพวกเขาได้ทำการดักฟังข้อมูลของประชาชนอเมริกาจนกลายเป็นข่าวอันโด่งดังขึ้นมา ซึ่งทางสหรัฐก็ไม่ได้ใช้ Single Gateway แต่อย่างใด ซึ่งจริง ๆ แล้วยังมีวิธีอื่น ๆ อีกมากมายที่สามารถหลบเลี่ยงการตรวจสอบโดย Single Gateway ได้ เช่นการใช้ Hosting ที่ต่างประเทศเป็นต้น จึงทำให้ Single Gateway ก็ไม่ได้ช่วยยุติพฤติกรรมเหล่านั้นแม้แต่น้อย แถมจะเป็นการผลักให้เขาไปต่างประเทศแบบ 100% จนยิ่งทำให้เราไม่สามารถแตะเขาได้เลย
แต่ข้อดีอย่างหนึ่งของ Single Gateway ก็คือสามารถทำการ Block Website เหล่านั้นเพื่อไม่ให้เข้ามาไทยได้ แต่แน่นอนว่ามันก็ยังคงมีช่องทางอื่น ๆ ในการเข้าไปอยู่ดีเช่นการผ่าน Proxy ต่างประเทศ เป็นต้น
ถ้าจะป้องกันเรื่องเหล่านี้ได้โดยไม่ใช้วิธี Single Gateway ต้องทำเช่นไร
ณ ปัจจุบันหลาย ๆ ที่ไม่ค่อยได้เก็บ Log ข้อมูลการใช้อินเทอร์เน็ตไว้ เวลาทางรัฐเข้าไปขอข้อมูลก็ไม่สามารถเอาข้อมูลมาได้ (จริง ๆ แล้วผิดกฎหมาย) ซึ่งงานนี้ถ้าไม่อยากให้กระทบกับการใช้อินเทอร์เน็ตของประเทศก็จะมีวิธีอย่างหนึ่งที่สามารถทำได้คือ การทำสำเนาข้อมูลทุกอย่างที่วิ่งผ่าน Gateway ทั้งหมดที่มี โดยเข้าไปทำกระจก (Mirror) แล้วส่งกลับมาที่ศูนย์กลางของภาครัฐ (เรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า Mirror Gateway) แล้วทำ Super Log เก็บทุกสิ่งทุกอย่าง ซึ่งวิธีนี้ก็จะไม่กระทบกับผู้ใช้งานในด้านความไวของการใช้อินเทอร์เน็ต แต่ปัญหาจะอยู่ที่จุดศูนย์รวมข้อมูลที่จะต้องมีขนาดใหญ่มากและมีความรวดเร็วพอที่จะรองรับ Gateway ทั้ง 10 แห่งที่มีอินเทอร์เน็ตผ่านอยู่ตลอดเวลา
และขอแนะนำไว้อย่างหนึ่งว่าเราทุกคนควรที่จะเก็บ Log ข้อมูลการใช้งานอินเทอร์เน็ตไว้ เผื่อวันหนึ่งมีผู้ไม่ประสงค์ดีเข้ามาแอบใช้งาน Wi-Fi บ้านเราแล้วทำสิ่งผิดกฎหมาย หากเราไม่มี LOG ในส่วนนี้ก็จะโดนตำรวจจับอย่างแน่นอน
สรุป
ทางคุณสมศักดิ์ ศรีประยูรสกุล Technology Director ได้กล่าวสรุปโปรเจ็ค Single Gateway นี้ว่า “โปรเจ็คนี้เป็นเรื่องที่ใหญ่มาก ทางภาครัฐต้องให้เวลามากกว่านี้และต้องใช้เวลาศึกษาข้อมูลและวางระบบหลังบ้านไว้ให้ดีเพื่อเตรียมพร้อมรองรับการใช้งานอินเทอร์เน็ตปริมาณมหาศาล ซึ่งระบบของเราเอาไปเทียบกับ Great Firewall of China ไม่ได้เพราะเขาได้สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยที่เพิ่งมีการเปิดประเทศแล้ว”
คุณภูมิจิต ศิระวงศ์ประเสริฐ ประธานชมรมผู้ประกอบการธุรกิจโฮสติ้ง ขอสรุปไว้ว่า “ถ้าจะทำโปรเจ็คอะไรก็ตามที่ส่งผลกระทบกับประชาชนขนาดนี้ต้องฟังเสียงของประชาชนด้วย อาจจะหาช่องทางว่าใครมีความเห็นอะไร และเปิดช่องให้เสนอความคิดเห็นในวิธีใดก็ตามที่รัฐสะดวกจะรับฟัง แล้วเรามาคุยกันว่าทางออกที่เราจะคิดถึงในเรื่อง National Security ที่เหมาะสม โดยที่เรายอมที่จะสูญเสียความเป็นส่วนตัวบางอย่างออกไปที่เรายอมรับได้คืออะไร แล้วเราน่าจะหาจุดลงตัวได้ดีกว่า”
ปิดท้ายด้วยคุณป้อม ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ นายกสมาคมผู้ประกอบการพานิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย กล่าวสรุปว่า “ผมว่ารัฐฯ จะทำอะไร อยากให้ลองคุยกับคนทำธุรกิจ โดยเรียกเข้ามาคุยกันว่า เราจะทำแบบนี้ จะดีไม่ดีในเชิงเศรษฐกิจและเชิงธุรกิจหรือจะมีผลกระทบอะไรบ้าง อีกเรื่องหนึ่งผมฝากถึงคนทำงานภาครัฐว่า บางทีหัวหน้าหรือผู้บริหารสูงสุดสั่งอะไรมา ถ้าบางอย่างมันไม่ดีก็บอกว่าไม่ดีเถอะ คือผมเข้าใจว่าหลาย ๆ คนก็รู้ว่าโปรเจ็คนี้มันไม่ดี แต่เนื่องจากนายสั่ง ซึ่งบางทีนายอาจจะไม่เข้าใจในเรื่องนี้ เราก็พูดไปเลยตรง ๆ ว่ามันไม่ดีอย่างไร ฉะนั้นทุกคนที่ทำงานภาครัฐ การที่คุณทำงานก็ไม่ควรจะไปเออออห่อหมกกับเขาทุกอย่าง ไม่งั้นมันจะทำให้เกิดความลำบากหลาย ๆ อย่างตามมา”